วันจันทร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2550

สรุปบทเรียนการรณรงค์

สรุปบทเรียนการรณรงค์

สัปดาห์ปิดทีวี ฮ่าฮ่าฮ่า

โดย กิตติชัย งามชัยพิสิฐ

งานรณรงค์สัปดาห์ปิดทีวี ฮ่าฮ่าฮ่า เป็นงานรณรงค์ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการณรงค์ของเครือข่าย TV Turnoff Network ซึงรณรงค์มาตั้งแต่ปี ๑๙๙๒ ซึ่งเมื่อมาในบริบทของประเทศไทยแล้วก็ได้มีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาและวิธีการให้เหมาะสมกับองค์กรที่จัด

การณรงค์ปิดทีวี ฮ่าฮ่าฮ่า ในปี ๒๕๕๐ เริ่มมาจากทางกลุ่มวีเช้นจ์ และสถาบันต้นกล้าได้ไปชวนเพื่อนๆ มาร่วมกันจัด โดยมีเป้าหมายคือ

๑. มีคนลงชื่อปิดทีวี ๕๕๕ คน

๒. มีเรื่องเล่าทางเลือกในการปิดทีวี ๕๕๕ เรื่อง

๓. มีกิจกรรมทางสังคม ๕๕๕ กิจกรรม

การทำงานแบบเครือข่าย

มีกลุ่ม/องค์กรเป็นภาคีในการทำงาน ๖ กลุ่ม/องค์กร ระบบการตัดสินใจจะแบ่งเป็น ๒ ส่วนคือการประชุมใหญ่ และการตัดสินใจจากแต่ละองค์กรเอง

การประชุมใหญ่มีขึ้น ๓ ครั้ง

ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๕๐ เป็นการประชุมเพื่อชี้แจงโครงการ โดยทางกลุ่มวีเช้นท์และสถาบันต้นกล้าได้ชี้แจงโครงการและชักชวนเพื่อนองค์กรต่างๆ เข้าร่วม ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการพูดคุยกันอย่างไม่เป็นทางการมาก่อนแล้ว การประชุมครั้งแรกได้ข้อสรุปว่าจะร่วมมือกันทำงานนี้

โดยแต่ละองค์กรจะมีบทบาทหน้าที่ที่ต่างกัน และเนื่องจากกลุ่มวีเช้นท์เป็นผู้ริเริ่มงานนี้ที่ประชุมจึงเสนอให้กลุ่มวีเช้นท์เป็นแม่งานในปีแรกก่อน แล้วปีต่อๆ ไปค่อยปรับเปลี่ยนกันอีกที

แต่ละองค์กรจะรับหน้าที่หาสมาชิกมาลงชื่อ แจกสื่อให้กลุ่มเป้าหมาย

มีการแบ่งงานกันโดย

กลุ่มวีเช้นท์ รับงานจัดการต่างๆ เช่นประสานงานองค์กรต่างๆ ,งานรณรงค์ , ผลิตสื่อสิ่งพิมพ์, ติดต่อสื่อมวลชน , รวบรวมรายชื่อสมาชิก, จัดทำเวบไซต์

กลุ่มมะขามป้อม รับทำละครและรณรงค์ตามสถานที่ต่างๆ ๓ ครั้ง

ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ม.มหิดล รับติดต่อประสานงานสถานที่ สวนสันติไชยปราการ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สวนจตุจักร และรถไฟฟ้าบีทีเอสสยาม

มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว ร่วมให้งบประมาณ ๕๐,๐๐๐ บาท และให้สื่อเพื่อมาเผยแพร่

องค์การแอคชั่นเอด ประเทศไทย เนื่องจากติดงานใหญ่ขององค์กร จึงมาร่วมได้ในวันที่ ๒๙ เมษายนเท่านั้น โดยมีการจัดนิทรรศการ

ปาจารยสาร จัดทำวารสารฉบับปิดทีวี

การประชุมครั้งอื่นๆ ในวันที่ ๙ และ ๑๙ เมษายน ก็มีขึ้นเพื่อติดตามงาน และแก้ปัญหาในการดำเนินงานต่างๆ โดยระหว่างการทำงานก็มีการติดต่อสื่อสารกันทางโทรศัพท์และอีเมล์ตลอดเวลา

นอกจากนั้นหลังกิจกรรมรณรงค์ทุกครั้งก็จะมีการสรุปงานและติดตามงานกัน

ลักษณะของการรณรงค์

· วัตถุประสงค์

การรณรงค์ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ของเครือข่ายง่ายๆ เพียง ๓ ข้อที่ต้องบรรลุคือ

๑. มีคนลงชื่อปิดทีวี ๕๕๕ คน

๒. มีเรื่องเล่าทางเลือกในการปิดทีวี ๕๕๕ เรื่อง

๓. มีกิจกรรมทางสังคม ๕๕๕ กิจกรรม

ทั้งนี้ยังมีเป้าหมายของแต่ละองค์กรเอง ที่ไม่นำมาใช้ในการประเมินผลของงานใหญ่แต่จะนำไปสรุปกันภายในองค์กรเอง เช่น

กลุ่มวีเช้นจ์ ต้องการสมาชิกที่จะสามารถติดต่อประสานงานได้ระยะยาว และต้องการเผยแพร่ความคิดเรื่องการรณรงค์ที่ทุกคนทำได้เอง

สถาบันต้นกล้า ต้องการประสบการณ์การรณรงค์แบบใหม่ที่ไม่เคยทำมาก่อน โดยประยุกต์มาจากเทคนิคทางการตลาดหลายๆ แนวทาง

ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ม.มหิดล เห็นว่าการรณรงค์ครั้งนี้มีแนวคิดที่สอดคล้องกับการรณรงค์แบบสันติวิธีจึงต้องการบทเรียนและแนวทางการรณรงค์สันติวิธีในประเทศไทย ซึ่งจะเป็ฯองค์ความรู้แก่ศูนย์ต่อไป นอกจากนั้นในสื่อโทรทัศน์ก็ยังมีความรุนแรงแอบแฝงอยู่มาก การรณรงค์ครั้งนี้น่าจะทำให้สังคมหันมาตั้งคำถามกับโทรทัศน์มากขึ้น

กลุ่มละครมะขามป้อม ต้องการฝึกฝนอาสาสมัครเพื่อให้สามารถเชื่อมโยงละครเข้ากับสังคมได้ โดยอาศัยการรณรงค์และการคิดละครเข้ามาเป็นเครื่องมือเพื่อพัฒนาคน

วารสารปาจารยสาร มีความสนใจเรื่องการรณรงค์และการทำกิจกรรมทางสังคมของคนรุ่นใหม่ และประเด็นเรื่องสื่อก็เป็นสิ่งที่ทางวารสารให้ความสำคัญอยู่แล้ว

มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว มีการรณรงค์ปิดทีวีวันอาทิตย์และสื่อที่ดีอยู่แล้ว การรณรงค์ครั้งนี้จึงช่วยเติมให้แก่การรณรงค์เดิมได้ด้วย

อย่างไรก็ตามเป้าหมายของแต่ละองค์กรก็ได้รับการตอบสนองแตกต่างกันไป ซึ่งนั่นหมายถึงโอกาสในการร่วมมือกันในภายภาคหน้า

· กลยุทธ์ในการรณรงค์

การมีเป้าหมายที่ชัดเจน เป็นรูปธรรม มีกำหนดเวลา ท้าทายพอที่จะเอื้อมถึง และประเมินผลง่าย ทำให้ทีมงานมีพลังที่จะขับเคลื่อนกิจกรรมไปสู่การบรรลุวัตถุประสงค์ สามารถประเมินผลระหว่างการทำงานได้ง่าย โดยดูจากปริมาณผู้สมัคร แล้วกำหนดกลยุทธ์ในการทำงาน เช่น

๑. งานรณรงค์จะต้องรับรู้ในวงกว้าง เพื่อไม่ให้เป็นงานที่ทำเฉพาะไม่กี่คน แล้วคนอื่นจะรู้สึกว่าไม่ใช่งานของเขา ดังนั้นต้องออกสื่อมากขึ้น การทำงานกับสื่อจะต้องมีกิจกรรมให้สื่อสามารถนำประเด็น กิจกรรมและเนื้อหาไปเขียนข่าวได้ ดังนั้นจึงจัดงานแถลงข่าวขึ้น เพื่อเปิดตัวโครงการ

๒. จัดงานรณรงค์ เพื่อให้สมาชิกมีส่วนร่วม หลังจากจัดงานแถลงข่าว ก็พบว่ามีคนสมัครมากขึ้น แต่เราก็ยังไม่สามารถทำให้คนอื่นรับรู้ได้ว่าเพื่อนสมาชิกที่สมัครเข้ามาได้มีผู้รับรู้ในวงกว้าง ดังนั้นเราจึงชวนเพื่อนๆ มาร่วมงานรณรงค์ทั้งสามครั้งของเรา ปรากฏว่ามีสมาชิกมาเข้าร่วม ๔-๕ คน ซึ่งทำให้สื่อมวลชนที่มาทำข่าวการรณรงค์มีข้อมูลและรู้จักกับคนที่สมัครปิดทีวีที่ไม่ใช่เฉพาะทีมงานมากขึ้น

๓. ระดมเพื่อนๆ มีเพื่อนๆ ของทีมงานอีกหลายคนที่ไม่ดูทีวีอยู่แล้ว แต่ไม่ได้ลงชื่อสมัคร ดังนั้นทีมงานจึงต้องชักชวนให้สมัคร ซึ่งนับเป็นการรณรงค์ที่น่าสนใจ เพราะหลายครั้งที่ทางทีมงานทำงานรณรงค์กลับละเลยเพื่อนใกล้ตัว ในครั้งนี้จึงระดมกำลังจากเพื่อนๆ ได้มาก

๔. ใช้การรณรงค์ผ่านสายสัมพันธ์ ทีมงานได้คุยกันว่าสมาชิกที่สมัครเข้ามาน่าจะมีส่วนช่วยในการหาสมาชิกมาต่อ ซึ่งก็ไม่ได้ยากเกินไปที่จะขอร้อง ดังนั้นทีมงานจึงโทรศัพท์หาเพื่อนสมาชิกให้ช่วยกันหาเพื่อนร่วมโครงการอีกต่อหนึ่ง

· การกระจายข่าวสารสู่สาธารณะ

แผนกลยุทธ์ที่ทางเครือข่ายใช้คือ

๑. ผลิตสื่อ ชิ้นคือ เสื้อ โปสเตอร์ แผ่นพับ คู่มือ และสติกเกอร์

๒. จัดงานแถลงข่าวTRAVELER CAFÉ เทเวศร์ โดยเชิญ อ.โคทม อารียา ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ในสังคมที่มีความสนใจในประเด็นเรื่องเด็ก ความรุนแรงและสื่อมาตลอด , คุณวริศรา (โรส) มหากายี ซึ่งเคยทำงานสื่อ และทำงานมูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์ซึ่งเป็นกิจกรรมเกี่ยวกับเด็กด้วย มาร่วมกับองค์กรร่วมจัดอีกสองคนจากสถาบันต้นกล้าและกลุ่มละครมะขามป้อม ซึ่งน่าจะทำให้สื่อมวลชนสนใจมาทำข่าวได้

๓. จัดงานรณรงค์ ๔ ครั้ง คือ งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สวนจตุจักร และรถไฟฟ้าบีทีเอสสยาม ซึ่งในการรณรงค์ก็มีสื่อมวลชนมาทำข่าวเช่นกัน

๔. จัดงานนิทรรศการ ในวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๕๐

๕. ประสานงานกับสื่อ โดยส่งหมายกำหนดการให้สื่อมวลชนและติดต่อสื่อเป็นการส่วนตัว โดยอาศัยต้นทุนเดิมจากกิจกรรมที่ทางกลุ่มวีเช้นท์ทำคือ แนวคิดเรื่องวีเช้นจ์และตลาดแบ่งปัน โดยมีสื่อกลุ่มหนึ่งที่สนใจแนวคิดนี้

สรุปบทเรียนการรณรงค์

จุดเด่นของการรณรงค์

๑. เป้าหมายง่ายๆ ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าเป้าหมายการรณรงค์ครั้งนี้ง่ายและวัดผลได้ ซึ่งส่งผลให้สามารถมีวัตถุประสงค์อื่นๆ แทรกเข้ามาได้อีก โดยไม่รู้สึกว่าเป็นภาระมากเกินไป (ดูรายละเอียดในหัวข้อ ลักษณะของการรณรงค์ ในส่วนวัตถุประสงค์)

๒. เนื้อหาเปิดกว้าง ในแง่เนื้อหาของการรณรงค์ครั้งนี้ เน้นไปที่การทบทวนตนเองต่อพฤติกรรมการดูทีวีและการมีทางเลือกเมื่อไม่ดูทีวีมากกว่าผลกระทบจากทีวี ซึ่งเป็นความตั้งใจที่จะเน้นที่ตัวผู้ร่วมรณรงค์มากกว่าการโจมตีทีวี ซึ่งทำให้เนื้อหาค่อนข้างเปิดกว้างแก่ผู้รับสาร และผู้เกี่ยวข้องกับทีวีไม่รู้สึกว่าตนเป็นจำเลยมากเกินไป

๓. การปฏิบัติการเปิดกว้าง การรณรงค์เน้นไปที่ปฏิบัติการส่วนตัวของผู้สมัคร ซึ่งสามารถสร้างสรรค์ได้เองตามเงื่อนไขและความสนใจ ทำให้เปิดให้มีความคิดสร้างสรรค์แปลกใหม่ออกมาได้มาก

ผลที่ได้รับจากการณรงค์คือ

นอกจากผลที่ได้รับตามวัตถุประสงค์แล้ว ยังมีผลที่เป็นเชิงความรู้ตามมาจากการทำงานด้วยคือ

๑. การทำงานกับสื่อ สื่อมีความสนใจในงานรณรงค์ครั้งนี้ ซึ่งคาดว่าเนื่องจากประเด็นที่น่าสนใจ กล่าวคือ การรณรงค์ครั้งนี้มีเป้าหมายชัดเจนคือปิดทีวี แต่ก็ไม่ได้มีความหมายในเชิงลบมากเกินไป เพราะคำขวัญคือ เปิดชีวิต ปิดทีวี นอกจากนั้นคาดว่าน่าจะเกิดจากประเด็นเรื่องเนื้อหาในทีวีเป็นสิ่งที่สังคมส่วนใหญ่ให้ความสนใจอยู่แล้วเรื่องผลกระทบของทีวีต่อเด็กและสังคม

ในส่วนของท่าทีในการสื่อสารก็เป็นสิ่งที่น่าพิจารณา โดยการรณรงค์ครั้งนี้เน้นไปที่ความสนุกสนาน ซึ่งลดทอนความรู้สึกต่อต้านจากกลุ่มผู้เกี่ยวข้องกับทีวีและกลุ่มเป้าหมายได้มาก

๒. ใช้เงินน้อยได้ผลมาก เนื่องจากประเด็นน่าสนใจโดยตัวของมันเอง โดยสมาชิกทุกคนได้มีการปฏิบัติการของตนเองง่ายๆ

๓. ได้ฐานรายชื่อสมาชิก การสมัครสมาชิกเพื่อปิดทีวีทำให้ได้รายชื่อคนที่สนใจมาจำนวนมาก ซึ่งจะเป็นฐานในการรณรงค์ครั้งต่อไปได้อย่างดี

๔. ได้บทเรียนการทำงานรณรงค์แบบสายสัมพันธ์ (ดูรายละเอียดในภาคผนวก)

จุดที่จะต้องมีการพัฒนาหรือทดลองกันต่อ

๑. การมีหรือไม่มีผู้แถลงข่าว ซึ่งในครั้งแรกทางกลุ่มได้ตกลงกันว่างานนี้จะไม่มีตัวแทนแถลงข่าวเดี่ยว แต่จะเวียนกันไป เพราะไม่ต้องการสร้างวัฒนธรรมแบบผู้นำเดี่ยว แต่ก็ประสบปัญหาเรื่องประสบการณ์ของผู้ให้ข่าว และสื่อไม่รู้ว่าจะต้องติดต่อใคร รวมทั้งมีปัญหาด้านการประสานงานกับองค์กรภาคี ทำให้สื่อติดต่อได้เพียงกลุ่มวีเช้นจ์และสถาบันต้นกล้าเท่านั้น

๒. กิจกรรมเพื่อให้สมาชิกทำระหว่างไม่ดูทีวี มีกลุ่มเป้าหมายที่ทางทีมงานไปรณรงค์และสมาชิกหลายท่านได้โทรมาสอบถามทีมงานว่าปิดทีวีแล้วจะทำอะไร ทางทีมงานก็ตอบไปตามเนื้อหาในคู่มือรณรงค์โดยเน้นไปที่การสร้างสรรค์เองของสมาชิก แต่ถ้าหากการรณรงค์คราวหน้ามีคู่มือที่เสนอกิจกรรมได้หลากหลายก็จะเป็นประโยชน์มากขึ้น รวมทั้งการติดต่อประสานองค์กรที่ทำกิจกรรมเพื่อสังคมที่จะให้สมาชิกไปทำกิจกรรมก็ยังน้อยเกินไป ทำให้สมาชิกมีทางเลือกน้อย และส่งผลต่อวัตถุประสงค์ข้อ ๓ ที่มีกิจกรรมเพื่อสังคมน้อยเกินไป

๓. การกำหนดกลุ่มเป้าหมาย เดิมทีมองไว้ที่คนชั้นกลางในเมือง อายุประมาณ ๒๐-๓๕ ปี ที่มีการศึกษาและทำงานแล้ว แต่ปรากฏว่าสมาชิกส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มคนมีครอบครัว เด็กและเยาวชนสมัครเข้ามา ดังนั้นในคราวหน้าอาจจะต้องมีการทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมายมากกว่านี้ เพื่อทำสื่อและกิจกรรมที่สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น

๔. การประเมินปริมาณสื่อ ในครั้งนี้ ทีมงานประเมินแผ่นพับและโปสเตอร์ต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากขาดประสบการณ์ในการทำงานรณรงค์ขนาดใหญ่ทำให้การพิมพ์ครั้งแรกในจำนวนน้อย จนไม่พอเผยแพร่ ต้องสั่งพิมพ์ใหม่ทำให้เสียโอกาสในการสั่งพิมพ์ราคาถูก

๕. การประสานงานระหว่างองค์กรภาคี ระบบการกระจายข้อมูลข่าวสารทางวิชาการของงานรณรงค์ค่อนข้างน้อย ภาคีจึงไม่สามารถร่วมกันรณรงค์ได้อย่างเต็มที่ การร่วมมือส่วนใหญ่จึงเน้นไปที่งานจัดการ ซึ่งในปีต่อๆ ไปจะต้องพัฒนาระบบการสื่อสารในแง่มุมวิชาการมากขึ้น

๖. วางระบบสื่อสารกับสมาชิก ต้องมีการสื่อสารกับสมาชิกอย่างต่อเนื่อง อาจจะต้องพิจารณาว่าจะมีระดับความใกล้ชิดเพียงใดที่จะไม่รู้สึกอึดอัดทั้งสองฝ่ายและก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทั้งตนเองและสังคม

ไม่มีความคิดเห็น: