วันจันทร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2550

ปิดทีวี ฮ่าฮ่าฮ่า

ปิดทีวี ฮ่าฮ่าฮ่า

การรณรงค์แนวทดลอง

การรณรงค์สัปดาห์ปิดทีวี เริ่มขึ้นเมื่อปี ๑๙๙๙ โดยกลุ่ม TV Free America โดยมีความเชื่อว่าทุกคนมีพลังอำนาจในการตรวจสอบบทบาทของรายการทีวีต่อชีวิต แทนที่จะเฝ้ารอให้รายการโทรทัศน์ดีขึ้น เราสามารถปิดมัน และเรียกเวลานั้นกลับคืน เพื่อชีวิตของเรา เพื่อนเรา และครอบครัวเรา

การเคลื่อนไหวสัปดาห์ปิดทีวีขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งปัจจุบันก็มีการรวมเป็นเครือข่าย TV Turnoff Network โดยมีกลุ่มที่ทำงานรณรงค์จากหลายประเทศ จนถึงปัจจุบันมีผู้คนจากทั่วโลกร่วมกิจกรรมสัปดาห์ปิดทีวีนับล้านคน

การรณรงค์ปิดทีวีในหลายประเทศเป็นเรื่องสนุกสนาน เช่น “ปฏิบัติการบดบังรัศมี” ที่ใช้ลูกบอลลูนทึบแสงเข้าบังจอโทรทัศน์ขนาดใหญ่ในสถานีรถไฟฟ้า การเดินขบวนโดยมีหุ่นยาว ๑๒ ฟุตชื่อเมทิลด้าและตัวละครหัวทีวีที่ทั้งร้องทั้งเต้นได้ มีการแข่งขันออกแบบโปสเตอร์รณรงค์ ขีดเขียนและพ่นสีกำแพงเพื่อเชิญชวนให้ปิดทีวี มีการแสดงละครข้างถนน ทำแอนิเมชั่นเกี่ยวกับทีวี ทำคู่มือ จัดกิจกรรมโดยชุมชนมีส่วนร่วม เช่น ร้านค้าจะให้ส่วนลดแก่ผู้มีใบสัญญาปิดทีวี หรือร่วมกันจัดกิจกรรมรื่นเริงในชุมชน

ในปีนี้งานสัปดาห์ปิดทีวีจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ ๒๓ – ๒๙ เมษายน ๒๕๕๐ ประเทศไทยจะลองรณรงค์ร่วมกับทุกคนทั่วโลก

โทรทัศน์ : เจ้ายักษ์สี่เหลี่ยมปากกว้าง

เมื่อยามแรกเกิด โทรทัศน์ได้รับการท้าทายจากละครเวทีและภาพยนตร์ว่าเป็นเพียงความบันเทิงไร้รสนิยม แต่มันได้ตอบโต้อย่างสงบเสงี่ยมด้วยการเข้าไปอยู่ในทุกครัวเรือน นำเสนอความบันเทิงถึงในบ้านทุกคน

จนถึงวันนี้เจ้ายักษ์สี่เหลี่ยมปากกว้างยังคงทำหน้าที่ของตนเองอย่างซื่อสัตย์ ยังคงรับสัญญาณที่ส่งผ่านมาจากสถานีโทรทัศน์ ที่ถูกป้อนรายการมาอีกทีโดยหน่วยงานรัฐและบริษัทผู้จัดรายการต่างๆ

นับตั้งแต่ประมาณปี ๒๔๖๘ ที่โทรทัศน์ถือกำเนิด จนกระทั่งปัจจุบันผ่านไปกว่า ๘๐ ปี แทบทุกบ้านต่างมีโทรทัศน์รับเรื่องราวจากผู้ผลิตรายการต่างๆ ที่บ้างมุ่งแสวงกำไร บ้างมุ่งนำเสนอข่าวสารของตน

ในโลกของการแสวงกำไรและอำนาจเช่นปัจจุบัน โทรทัศน์ได้กลายเป็นเครื่องมืออันทรงพลังในการจูงใจคนให้เชื่อตาม นำเสนอค่านิยม สร้างนิสัย ก่อความรู้สึกร่วม ผ่านเรื่องราวความรู้ ความบันเทิง และความแปลกใหม่

แม้จะแบกรับคำกล่าวหาใดๆ แต่โทรทัศน์ก็ยังคงทำหน้าที่ของตนเองอย่างซื่อสัตย์ ถึงจะมีการท้าทายครั้งใหม่จากคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เนตแต่ก็ยังคงอีกนานกว่าผู้ท้าชิงจะแข็งแกร่งพอที่จะต่อสู้อย่างสมน้ำสมเนื้อ

เจ้ายักษ์สี่เหลี่ยมปากกว้างยังคงทรงพลังในยุคปัจจุบัน ระบบโครงข่ายโทรทัศน์แข็งแกร่งมากพอด้วยการประสานกันอย่างแข็งขันทั้งจากผู้ผลิตรายการทีวี ที่พยายามแข่งกันเสนอความแปลกใหม่ สนุกสนานในรูปแบบต่างๆ บางบริษัทก็พยายามสร้างเนื้อหาที่ดีสำหรับผู้บริโภค แต่ด้วยข้อจำกัดของเป้าหมายบริษัทที่ต้องการอยู่รอดและมุ่งกำไรสูงสุด อีกทั้งข้อจำกัดของความเป็นตัวสื่อที่เป็นการสื่อสารทางเดียวและเป็นเพียงการนำความเสมือนจริงทำให้รายการโทรทัศน์ก็ยังเป็นเพียงความบันเทิงที่ฉาบฉวย เป็นภาพตัวแทนของความจริงที่ถูกตัดแต่งจนเสมือนว่าจริงแท้ เป็นกระบอกเสียงแก่ผู้มีอำนาจ และเป็นแหล่งเผยแพร่ค่านิยมบริโภค

ในด้านผู้บริโภคเองก็ตกอยู่ในภาวะจำยอม ในด้านหนึ่งการรับความบันเทิงอย่างโทรทัศน์นั้นต้นทุนต่ำกว่าความบันเทิงอื่น ทั้งราคาและเวลา ในอีกด้านหนึ่ง การอยู่กับโทรทัศน์นานๆ นั้นก็ได้สร้างนิสัยของผู้รับไปโดยไม่รู้ตัว ทั้งยังซึมซาบเอาค่านิยมที่ได้รับจากโทรทัศน์จนแทบเป็นหนึ่งเดียวกัน เราในฐานะผู้บริโภคมักจะรับสารจากโทรทัศน์เพื่อรับข้อมูลใหม่เพื่อตอกย้ำความเชื่อเดิมมากกว่าที่จะเพื่อตั้งคำถาม

เมื่อเราพิจารณาถึงเบื้องหลังของผู้ควบคุมโทรทัศน์ ระบบโครงข่ายใหญ่โตที่ใช้ทรัพยากรจำนวนมากนี้ คือตัวผ่านของอุดมการณ์ที่เชื่อการรวมศูนย์ การแข่งขัน การแยกคนเป็นส่วนๆ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน กำไรสูงสุด การบริโภควัตถุ

มันคือระบบขนาดใหญ่ที่อยู่ภายใต้ระบบที่ใหญ่กว่าอีกตัวหนึ่งคืออุดมการณ์ที่เชื่อในความสุขทางวัตถุ เชื่อในการสะสม รวมศูนย์ กำไรสูงสุด ความเป็นเป็นมาตรฐานเหมือน การครอบครอง กรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล ฯลฯ ผู้มียักษ์ใหญ่เป็นบริวารจำนวนมาก

ใครเล่าจะท้าทายหมู่ยักษ์

เราอาจจะได้เคยรับรู้เรื่องราวของการท้าทายระบบทุนนิยมและเผด็จการผ่านโทรทัศน์ ในแง่ของความน่ากลัว ความหลงผิด และความรุนแรง ผ่านสื่ออันทรงพลังอย่างโทรทัศน์ที่ทำหน้าที่รับใช้ผู้กุมอำนาจในขณะนั้นที่มีผลประโยชน์ขัดแย้งและเชื่อในปรัชญาแบบทุนนิยม

แต่อย่างไรก็ตาม โลกของเราได้มีการท้าทายระบบทุนนิยมครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติในนามของชุมชนนิยม (Communism-ลัทธิคอมมิวนิสต์) ตามแนวของคาร์ล มาร์กซ์และนักคิดนักปฏิบัติในสายเดียวกัน ด้วยชุดความคิดที่วิพากษ์ทุนนิยมและนำเสนอแบบจำลองสังคมใหม่ที่ดีกว่าอย่างเป็นระบบ เช่น ความเท่าเทียม การแบ่งปันทรัพยากร ฯลฯ ประกอบกับการจัดตั้งที่เข้มแข็งทั้งปิดลับและเปิดเผย ทั้งระดับฐานของสังคมและระดับนโยบายผ่านพรรคการเมือง ชุมชนนิยมนำเสนอตนเองในฐานะผู้ท้าชิงอย่างสง่างาม

แต่ด้วยเหตุปัจจัยหลายประการ การท้าทายนั้นกลับอ่อนแรงลงอย่างน่าใจหายในปัจจุบัน หลายคนเริ่มนับถอยหลังนับตั้งแต่การพังทลายของกำแพงเบอร์ลินที่แบ่งโลกทุนนิยมและสังคมเป็นสัญลักษณ์ความพ่ายแพ้ของชุดความคิดแบบพรรคคอมมิวนิสต์

การแตกกระจายของการจัดตั้งอันเข้มแข็งเกิดดอกออกผลเป็นความคิดต่างๆ จำนวนมาก บ้างยังคงเชื่อในชุดปรัชญาและวิธีเดิมของคอมมิวนิสต์ บ้างค้นคิดวิธีการใหม่ที่เอาบทเรียนจากประวัติศาสตร์มาแก้ไข บางปรัชญา บางสำนักคิด บางกลุ่มที่เดิมเคยถูกบดบังรัศมีจากความเข้มแข็งของขบวนการขนาดใหญ่นี้ ก็เริ่มส่งแสงของตนเองท้าทายลัทธิเสรีนิยม/ทุนนิยมออกมาบ้าง เช่น ชุมชนนิยมในแบบอื่นๆ ขบวนการศาสนา/จิตวิญญาณ ขบวนการรักธรรมชาติ ขบวนการสิทธิต่างๆ ฯลฯ

การท้าทายทุนนิยมครั้งใหญ่กำลังก่อตัวขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง เป็นขบวนการที่เต็มไปด้วยความหวังและการสร้างสรรค์ อาจดูกระจัดกระจาย แต่ความหลากหลายนี้จะก่อพลังอันยิ่งใหญ่ตามมา

ขบวนการโลกาภิวัตน์จากเบื้องล่าง

ในวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๒ สื่อมวลชนในสหรัฐอเมริกาและทั่วโลกต่างงุนงงและสับสนกับคลื่นขบวนของผู้คนจำนวนมากที่หลั่งไหลมาจากทั่วโลก เมื่อสื่อมวลชนเข้าไปถามถึงผู้นำ พวกเขาต่างตอบมาว่าไม่มี พวกเรานำตัวเอง เมื่อถูกถามถึงจุดมุ่งหมายพวกเขาก็ต่างตอบมาเหมือนกันว่า เพื่อหยุดการประชุม WTO (องค์การการค้าโลก) พวกเขามาจากที่หลากหลาย ความสนใจก็หลากหลาย ทั้งสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย การค้าที่เป็นธรรม สิทธิสัตว์ สิทธิทางเพศ ชนพื้นเมือง ศาสนา ศิลปะ ฯลฯ สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันก็คือการปฏิเสธการค้าที่ไม่เป็นธรรมในนามของการค้าเสรีที่จะมีการตกลงในเวทีประชุมองค์การการค้าโลก

แต่แล้วสื่อมวลชนก็ได้พบแง่มุมที่คุ้นเคย และจับประเด็นที่เขาต้องการได้เมื่อเกิดการทุบทำลายสัญลักษณ์หนึ่งของโลกทุนนิยมซึ่งก็คือร้านอาหารรับประทานด่วนที่แผ่ขยายสาขาและวัฒนธรรมการกินแบบเชิงเดี่ยวอย่างร้านแมคโดนัลด์ สื่อมวลชนชื่นชมกับข่าวนี้และนำเสนอให้เป็นภาพตัวแทนของการเคลื่อนไหวครั้งนี้ ทั้งตั้งฉายานามที่แสนจะไม่ตรงกับความจริงแก่ขบวนการเคลื่อนไหวนี้ว่า “ขบวนการต่อต้านโลกาภิวัตน์”

ทั้งที่จริงแล้วผู้เข้ามาชุมนุมในครั้งนั้นมีความคิด ความเชื่อ วิธีการที่หลากหลาย การทุบทำลายเป็นเพียงหนึ่งความเชื่อที่มีอยู่ในการชุมนุมครั้งนั้นเท่านั้น แต่ก็ไม่มีใครควบคุมกันและกัน ทุกคนเคลื่อนไหวอย่างอิสระและเคารพกันและกัน ไม่ได้อยู่ในสภาพของฝูงคนที่บ้าคลั่งแต่อย่างไร

นาม “ขบวนการต่อต้านโลกาภิวัตน์” เป็นนามที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงอย่างเห็นได้ชัด เพราะขบวนการนี้เป็นผลิตผลโดยตรงของโลกาภิวัตน์ หลายคนในขบวนการนี้สนับสนุนโลกาภิวัตน์เสียยิ่งกว่า WTO หรือIMFด้วยซ้ำ เช่น เครือข่ายนานาชาติหนึ่งที่มีบทบาทในวันนั้นคือ “ปฏิบัติการระดับโลกของประชาชน” (People's Global Action-PGA) เป็นองค์กรแรกๆ ที่ระดมกำลังเพื่อให้มีวันปฏิบัติการพร้อมกันทั่วโลก เช่นวัน J18 ซึ่งเป็นวันปฏิบัติการต่อต้านทุนนิยม ที่ผู้คนทั่วโลกออกมาประท้วงพร้อมกับการจัดประชุมสุดยอดของประเทศ G8 เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 1999 และ N30คือวันที่ 30 พฤศจิกายน 1999 เป็นวันปฏิบัติการต่อต้าน WTO พร้อมกันทั่วโลก โดยชุมนุมใหญ่ร่วมกันที่เมืองซีแอตเติล สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นที่ชุมนุมใหญ่ของ WTO

องค์กรPGA กำเนิดมาจากการประชุม “การสังสรรค์นานาชาติเพื่อมนุษยชาติและการต่อต้านเสรีนิยมใหม่” เมื่อปี 1996 ที่เมืองเชียปาส เมกซิโก ในเขตยึดครองของ ซาปาติสตา โดยในแถลงการณ์ฉบับที่ ๒ ได้ประกาศว่า “เราขอประกาศว่า เราจะสร้างเครือข่ายผนึกกำลังการต่อสู้และการต่อต้านขัดขืนทั้งหมดเข้าด้วยกัน เครือข่ายข้ามทวีปเพื่อต่อต้านลัทธิเสรีนิยมใหม่ เครือข่ายข้ามทวีปของการต่อต้านขัดขืนเพื่อมนุษยชาติ”

และที่น่าสนใจอีกอย่าง คือการประกาศว่าเครือข่ายนี้ “ไม่ใช่โครงสร้างแบบจัดตั้ง ไม่มีศูนย์กลางหรือแกนนำการตัดสินใจ ไม่มีศูนย์บัญชาการใหญ่ หรือการออกคำสั่งตามลำดับขั้น เราต่างเป็นเครือข่าย เราผู้ต่อต้านขัดขืนทุกคน”

ขบวนการต่อต้าน/ขัดขืนก่อกำเนิดขึ้นมากมายทั่วโลก ปฏิบัติการอย่างเคารพกันและกัน ด้วยความเชื่ออันหลากหลาย วิธีการที่ต่างสร้างสรรค์กันขึ้นมาตามท้องถิ่นของตนเอง

ผู้คนจำนวนมากไม่ต้องเข้าร่วมกับองค์กรอันใหญ่โต รับคำสั่งหรือความเชื่อใดๆ พวกเขาต่างคิดและทดลองทำ เรียนรู้ในขณะทำงานพร้อมๆ กับคนอื่นๆ

การท้าทายระบบทุนนิยมอันใหญ่โตและเข้มแข็งกำลังก่อกำเนิดขึ้นมา คราวนี้ไม่มีตัวแทนใดๆ มีแต่ปัจเจกชนอันมากมายหลายหลากที่ต่างเป็นตัวของตัวเองและเคารพกันและกัน เราอาจเรียกขบวนการนี้ไปพลางๆ ว่า “ขบวนการโลกาภิวัตน์จากเบื้องล่าง”

รณรงค์ปิดทีวี : การท้าทายจากเบื้องล่าง

เมื่อเรานึกถึงงานรณรงค์ เรานึกถึงอะไร?

มีนักการเมืองหรือหน่วยงานรัฐออกมาบอกความจำเป็นของประเทศชาติ มีดาราออกมาแสดงตัว มีนักร้องมาร้องเพลง มาขอความร่วมมือ มีสื่อต่างๆ ออกมาประโคมข่าว ก่อกระแส ทั้ง เอกสารแจก สื่อต่างๆ วิทยุ หนังสือพิมพ์ รวมทั้งโทรทัศน์ต่างเผยแพร่กระจายข่าว

ทรัพยากรต่างๆ ทั้งเงิน เวลา แรงงาน และพื้นที่ ถูกระดมเพื่อการรณรงค์ให้เกิดการปฏิบัติตามความคิดความเชื่อที่ผู้รณรงค์ต้องการ

คนเล็กคนน้อยที่ไร้ทรัพยากร ก็เป็นได้แค่เพียงผู้รับสารและกลุ่มเป้าหมาย...

การรณรงค์ปิดทีวี ฮ่าฮ่าฮ่า เป็นความพยายามทดลองสร้างงานรณรงค์ด้วยมุมมองที่ต่างออกไป เป็นงานรณรงค์จากเบื้องล่าง เพื่อท้าทายความยิ่งใหญ่ของระบบการจัดการ ระบบสื่อสารมวลชนขนาดใหญ่ การระดมทรัพนากรจำนวนมหาศาล มาทดลองสร้างการรณรงค์ที่อาศัยฐานความสัมพันธ์ ใช้พลังของมนุษย์เล็กๆ และการเคารพความแตกต่างหลากหลาย

หลักการกว้างๆ ที่การรณรงค์พยายามทดลองใช้มีอยู่ ๓ หลักคือแนวราบ ความสัมพันธ์และสนุกสนาน

. การจัดองค์กรแบบแนวราบ

การดำเนินงานรณรงค์มีลักษณะเป็นเครือข่าย โดยแต่ละองค์กรต่างก็มีความสนใจในประเด็นการรณรงค์แตกต่างกันไป เช่น บางองค์กรเห็นว่ารายการข่าวสารของโทรทัศน์เป็นสิ่งบิดเบือน บางองค์กรเห็นว่าการูโทรทัศน์มากไปเป็นผลเสียแก่เยาวชน บางองค์กรเห็นว่าควรให้ความสำคัญกับสื่ออื่นมากขึ้น บางองค์กรเห็นว่าเป็นเรื่องสนุก ฯลฯ ทุกองค์กรเห็นว่าเราอาจมีความสนใจเนื้อหาต่างกันได้ อาจเพียงเห็นด้วยกันเพียงประเด็นและเป้าหมายของงานเท่านั้นก็ได้ ไม่มีใครเป็นผู้นำชัดเจนเด็ดขาด จะมีก็เพียงผู้รับหน้าที่ ซึ่งอาจจะรับภาระไม่เท่ากันก็ได้

รูปแบบของการรณรงค์ ไม่เน้นที่การเป็นข่าวใหญ่โตหรือปริมาณผู้เข้าร่วมโครงการ แต่เน้นที่การได้มาซึ่งสมาชิกผู้ลงชื่อปิดทีวี อันถือเป็นส่วนสำคัญในการรณรงค์ เป็นตัวขับเคลื่อนการรณรงค์

และที่สำคัญคือในอนาคตจะเป็นส่วนคิดและตัดสินใจ เช่น การรณรงค์ครั้งต่อไปจะอาศัยการตัดสินใจจากหมู่สมาชิกว่าเนื้อหา ประเด็นและรูปแบบน่าจะเป็นอย่างไร รวมทั้งการรณรงค์ในประเด็นอื่นๆ ที่จะติดตามมาอีก เช่น ปิดโทรศัพท์มือถือ งดชอปปิ้ง ใช้ชีวิตช้าๆ ฯลฯ

การจัดองค์กรเช่นนี้เกิดจากความเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีปัญญาและสามารถใช้ศักยภาพในการสร้างสรรค์ของตนอย่างเต็มที่ได้ภายใต้ความสัมพันธ์แบบไม่มีอำนาจตามลำดับขั้นและเคารพกันและกัน ซึ่งต่างจากวัฒนธรรมแบบรวมศูนย์อำนาจและให้ความสำคัญกับตำแหน่งหรือความเชี่ยวชาญ

. การรณรงค์แบบใช้ฐานความสัมพันธ์

การรณรงค์โดยทั่วไปมักจะเป็นการรณรงค์ที่มีกระบวนการที่เริ่มจากการให้ข้อมูล เปลี่ยนทัศนคติ และเปลี่ยนพฤติกรรม โดยมีศูนย์กลางรณรงค์เพียงศูนย์เดียว กลุ่มเป้าหมายเป็นเพียงผู้รับสารและเปลี่ยนพฤติกรรมเท่านั้น

แต่การรณรงค์โดยใช้ฐานความสัมพันธ์จะเริ่มจากฐานความเชื่อว่าทุกคนมีความปรารถนาจะทำสิ่งที่ดีต่อชีวิตตนเอง คนอื่นและโลกอยู่แล้ว ดังนั้นสิ่งที่จะต้องทำก็คือ เราจะทำอย่างไรให้คนเหล่านี้แสดงตนออกมา จากนั้นก็ร่วมกันสร้างวิธีการขยายผลจากตัวเองสู่คนรอบข้างออกไปเรื่อยๆ นั่นหมายถึงทุกคนๆ ก็คือผู้รณรงค์นั่นเอง

นี่เปรียบเสมือนการเจริญเติบโตแบบจอกแหน ซึ่งแตกตัวจากหนึ่งไปสอง สองไปสี่ สี่ไปแปด และแปดไปสิบหก เรื่อยๆ

อีกแง่หนึ่งการรณรงค์แบบใช้ฐานความสัมพันธ์จะมุ่งไปที่การพบปะกันตัวต่อตัวมากกว่าผ่านสื่อ ซึ่งในช่วงแรกอาจจะช้า แต่จะมั่นคงและขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงท้าย ซึ่งน่าจะสอดคล้องกับระบบความสัมพันธ์แบบไทยที่เน้นความสัมพันธ์แบบเห็นหน้าเห็นตาเป็นส่วนสำคัญ

. การรณรงค์ที่สนุกสนาน

จะอย่างไรก็ตาม การต่อสู้กับระบบทุนนิยมอันใหญ่โตในปัจจุบันนั้นเป็นเรื่องยากและยาวนาน การทำงานเพื่อขัดขืน ฟื้นคุณค่าอันดีงาม สร้างสรรค์คุณค่าใหม่นั้นจึงจำเป็นต้องเป็นไปอย่างไม่ทำร้ายตนเอง เราคงต้องมีวัฒนธรรมของความสนุกสนาน ไม่หวังผลเฉพาะหน้ามากเกินไป เปิดกว้าง รับฟัง เรียนรู้จากกันและกัน รวมทั้งเปิดโอกาสให้ความผิดพลาดบ้าง

หลายครั้งที่ความปรารถนาดีและความตั้งใจจริงของเราทำร้ายตนเองและคนอื่นโดยไม่รู้ตัว เราเชื่อว่าสิ่งที่เราทำนั้นดีและน่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนอื่น แต่ในหลายกรณีสิ่งนั้นอาจยังไม่เหมาะกับคนอื่นในเวลานั้น ซึ่งหากเรามุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงเกินไปก็จะก่อให้เกิดความทุกข์ทั้งเราและคนอื่น

การรณรงค์ที่สนุกสนานในที่นี้ไม่ได้หมายถึงความสนุกสนานแบบหวือหวาเหมือนความบันเทิงแบบมืออาชีพหรือการแสดงที่เราเห็นในทีวี ซึ่งเป็นการพยายามที่จะทำให้คนอื่นบันเทิง แต่ถ้าเรามุ่งที่การพยายามให้ทั้งเราและคนอื่นสนุกสนาน นั่นอาจหมายถึงการปล่อยสบายๆ ไม่ทุกข์ร้อนกับการพยายามทำให้คนเข้าร่วมเป็นสมาชิกมากเกิน มีความสุขกับการสร้างสรรค์ ทำในสิ่งที่เราชอบและสนุก ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ฯลฯ

โลกเปลี่ยนเพราะฉันเปลี่ยน ทุกวันฉันเปลี่ยนแปลงโลก

การทดลองครั้งนี้ ถ้าล้มเหลว นั่นก็เป็นเพียงขั้นตอนที่ต้องผ่าน ถ้ามันสำเร็จนั่นก็อาจเป็นแรงผลักดันที่จะนำไปสู่การท้าทายที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งอาจจะมีทั้งความสำเร็จและล้มเหลวรอคอยอยู่ข้างหน้า

ถ้าโลกมันไม่ปกติ ไม่เกื้อหนุนให้คนใช้ชีวิตอย่างที่ควรจะเป็น ไม่นำไปสู่ชีวิตและจิตใจที่ดีขึ้น เราก็ต้องเปลี่ยนมัน ถ้าปัญหามันยิ่งใหญ่ เราก็ต้องยิ่งใหญ่พอที่จะจัดการมัน ความยิ่งใหญ่อาจไม่ได้หมายถึงยิ่งใหญ่ตามเกมที่เขากำหนด เราสร้างความยิ่งใหญ่ของเราได้เอง

การท้าทายจากเบื้องล่างอาจจะดูเล็กๆ หากมองด้วยมุมของการควบคุมจากเบื้องบน แต่ความยิ่งใหญ่ของการท้าทายจากเบื้องล่างอาจเป็นความหวังอันงดงาม เป็นความสนุกสนานที่ไม่หวือหวา เป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ที่ไม่ผ่านสื่อ หรืออะไรก็ได้ตามที่เราจะสามารถนิยามมันขึ้นมาเอง

เราสร้างโลกใบใหม่ขึ้นมาได้ทุกวัน สร้างขึ้นมาในหัวใจเรา แผ่ขยายสู่คนรอบข้าง ก่อผลสะเทือนสู่สังคมและโลก

คุณอยากเปลี่ยนแปลงโลกใช่ไหม ขอเราร่วมด้วยคนสิ

เอกสารประกอบการเขียน

- _______ . “คู่มือปิดทีวี” สถาบันต้นกล้า. กรุงเทพ.

- เดวิด เกรเบอร์ เขียน ภัควดี วีระภาสพงษ์ แปล. 2547. “นักอนาธิปไตยแนวใหม่” วารสารฟ้าเดียวกัน. ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๔

ไม่มีความคิดเห็น: