วันจันทร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2550

Poster TurnoffTV


สรุปบทเรียนการรณรงค์

สรุปบทเรียนการรณรงค์

สัปดาห์ปิดทีวี ฮ่าฮ่าฮ่า

โดย กิตติชัย งามชัยพิสิฐ

งานรณรงค์สัปดาห์ปิดทีวี ฮ่าฮ่าฮ่า เป็นงานรณรงค์ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการณรงค์ของเครือข่าย TV Turnoff Network ซึงรณรงค์มาตั้งแต่ปี ๑๙๙๒ ซึ่งเมื่อมาในบริบทของประเทศไทยแล้วก็ได้มีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาและวิธีการให้เหมาะสมกับองค์กรที่จัด

การณรงค์ปิดทีวี ฮ่าฮ่าฮ่า ในปี ๒๕๕๐ เริ่มมาจากทางกลุ่มวีเช้นจ์ และสถาบันต้นกล้าได้ไปชวนเพื่อนๆ มาร่วมกันจัด โดยมีเป้าหมายคือ

๑. มีคนลงชื่อปิดทีวี ๕๕๕ คน

๒. มีเรื่องเล่าทางเลือกในการปิดทีวี ๕๕๕ เรื่อง

๓. มีกิจกรรมทางสังคม ๕๕๕ กิจกรรม

การทำงานแบบเครือข่าย

มีกลุ่ม/องค์กรเป็นภาคีในการทำงาน ๖ กลุ่ม/องค์กร ระบบการตัดสินใจจะแบ่งเป็น ๒ ส่วนคือการประชุมใหญ่ และการตัดสินใจจากแต่ละองค์กรเอง

การประชุมใหญ่มีขึ้น ๓ ครั้ง

ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๕๐ เป็นการประชุมเพื่อชี้แจงโครงการ โดยทางกลุ่มวีเช้นท์และสถาบันต้นกล้าได้ชี้แจงโครงการและชักชวนเพื่อนองค์กรต่างๆ เข้าร่วม ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการพูดคุยกันอย่างไม่เป็นทางการมาก่อนแล้ว การประชุมครั้งแรกได้ข้อสรุปว่าจะร่วมมือกันทำงานนี้

โดยแต่ละองค์กรจะมีบทบาทหน้าที่ที่ต่างกัน และเนื่องจากกลุ่มวีเช้นท์เป็นผู้ริเริ่มงานนี้ที่ประชุมจึงเสนอให้กลุ่มวีเช้นท์เป็นแม่งานในปีแรกก่อน แล้วปีต่อๆ ไปค่อยปรับเปลี่ยนกันอีกที

แต่ละองค์กรจะรับหน้าที่หาสมาชิกมาลงชื่อ แจกสื่อให้กลุ่มเป้าหมาย

มีการแบ่งงานกันโดย

กลุ่มวีเช้นท์ รับงานจัดการต่างๆ เช่นประสานงานองค์กรต่างๆ ,งานรณรงค์ , ผลิตสื่อสิ่งพิมพ์, ติดต่อสื่อมวลชน , รวบรวมรายชื่อสมาชิก, จัดทำเวบไซต์

กลุ่มมะขามป้อม รับทำละครและรณรงค์ตามสถานที่ต่างๆ ๓ ครั้ง

ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ม.มหิดล รับติดต่อประสานงานสถานที่ สวนสันติไชยปราการ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สวนจตุจักร และรถไฟฟ้าบีทีเอสสยาม

มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว ร่วมให้งบประมาณ ๕๐,๐๐๐ บาท และให้สื่อเพื่อมาเผยแพร่

องค์การแอคชั่นเอด ประเทศไทย เนื่องจากติดงานใหญ่ขององค์กร จึงมาร่วมได้ในวันที่ ๒๙ เมษายนเท่านั้น โดยมีการจัดนิทรรศการ

ปาจารยสาร จัดทำวารสารฉบับปิดทีวี

การประชุมครั้งอื่นๆ ในวันที่ ๙ และ ๑๙ เมษายน ก็มีขึ้นเพื่อติดตามงาน และแก้ปัญหาในการดำเนินงานต่างๆ โดยระหว่างการทำงานก็มีการติดต่อสื่อสารกันทางโทรศัพท์และอีเมล์ตลอดเวลา

นอกจากนั้นหลังกิจกรรมรณรงค์ทุกครั้งก็จะมีการสรุปงานและติดตามงานกัน

ลักษณะของการรณรงค์

· วัตถุประสงค์

การรณรงค์ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ของเครือข่ายง่ายๆ เพียง ๓ ข้อที่ต้องบรรลุคือ

๑. มีคนลงชื่อปิดทีวี ๕๕๕ คน

๒. มีเรื่องเล่าทางเลือกในการปิดทีวี ๕๕๕ เรื่อง

๓. มีกิจกรรมทางสังคม ๕๕๕ กิจกรรม

ทั้งนี้ยังมีเป้าหมายของแต่ละองค์กรเอง ที่ไม่นำมาใช้ในการประเมินผลของงานใหญ่แต่จะนำไปสรุปกันภายในองค์กรเอง เช่น

กลุ่มวีเช้นจ์ ต้องการสมาชิกที่จะสามารถติดต่อประสานงานได้ระยะยาว และต้องการเผยแพร่ความคิดเรื่องการรณรงค์ที่ทุกคนทำได้เอง

สถาบันต้นกล้า ต้องการประสบการณ์การรณรงค์แบบใหม่ที่ไม่เคยทำมาก่อน โดยประยุกต์มาจากเทคนิคทางการตลาดหลายๆ แนวทาง

ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ม.มหิดล เห็นว่าการรณรงค์ครั้งนี้มีแนวคิดที่สอดคล้องกับการรณรงค์แบบสันติวิธีจึงต้องการบทเรียนและแนวทางการรณรงค์สันติวิธีในประเทศไทย ซึ่งจะเป็ฯองค์ความรู้แก่ศูนย์ต่อไป นอกจากนั้นในสื่อโทรทัศน์ก็ยังมีความรุนแรงแอบแฝงอยู่มาก การรณรงค์ครั้งนี้น่าจะทำให้สังคมหันมาตั้งคำถามกับโทรทัศน์มากขึ้น

กลุ่มละครมะขามป้อม ต้องการฝึกฝนอาสาสมัครเพื่อให้สามารถเชื่อมโยงละครเข้ากับสังคมได้ โดยอาศัยการรณรงค์และการคิดละครเข้ามาเป็นเครื่องมือเพื่อพัฒนาคน

วารสารปาจารยสาร มีความสนใจเรื่องการรณรงค์และการทำกิจกรรมทางสังคมของคนรุ่นใหม่ และประเด็นเรื่องสื่อก็เป็นสิ่งที่ทางวารสารให้ความสำคัญอยู่แล้ว

มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว มีการรณรงค์ปิดทีวีวันอาทิตย์และสื่อที่ดีอยู่แล้ว การรณรงค์ครั้งนี้จึงช่วยเติมให้แก่การรณรงค์เดิมได้ด้วย

อย่างไรก็ตามเป้าหมายของแต่ละองค์กรก็ได้รับการตอบสนองแตกต่างกันไป ซึ่งนั่นหมายถึงโอกาสในการร่วมมือกันในภายภาคหน้า

· กลยุทธ์ในการรณรงค์

การมีเป้าหมายที่ชัดเจน เป็นรูปธรรม มีกำหนดเวลา ท้าทายพอที่จะเอื้อมถึง และประเมินผลง่าย ทำให้ทีมงานมีพลังที่จะขับเคลื่อนกิจกรรมไปสู่การบรรลุวัตถุประสงค์ สามารถประเมินผลระหว่างการทำงานได้ง่าย โดยดูจากปริมาณผู้สมัคร แล้วกำหนดกลยุทธ์ในการทำงาน เช่น

๑. งานรณรงค์จะต้องรับรู้ในวงกว้าง เพื่อไม่ให้เป็นงานที่ทำเฉพาะไม่กี่คน แล้วคนอื่นจะรู้สึกว่าไม่ใช่งานของเขา ดังนั้นต้องออกสื่อมากขึ้น การทำงานกับสื่อจะต้องมีกิจกรรมให้สื่อสามารถนำประเด็น กิจกรรมและเนื้อหาไปเขียนข่าวได้ ดังนั้นจึงจัดงานแถลงข่าวขึ้น เพื่อเปิดตัวโครงการ

๒. จัดงานรณรงค์ เพื่อให้สมาชิกมีส่วนร่วม หลังจากจัดงานแถลงข่าว ก็พบว่ามีคนสมัครมากขึ้น แต่เราก็ยังไม่สามารถทำให้คนอื่นรับรู้ได้ว่าเพื่อนสมาชิกที่สมัครเข้ามาได้มีผู้รับรู้ในวงกว้าง ดังนั้นเราจึงชวนเพื่อนๆ มาร่วมงานรณรงค์ทั้งสามครั้งของเรา ปรากฏว่ามีสมาชิกมาเข้าร่วม ๔-๕ คน ซึ่งทำให้สื่อมวลชนที่มาทำข่าวการรณรงค์มีข้อมูลและรู้จักกับคนที่สมัครปิดทีวีที่ไม่ใช่เฉพาะทีมงานมากขึ้น

๓. ระดมเพื่อนๆ มีเพื่อนๆ ของทีมงานอีกหลายคนที่ไม่ดูทีวีอยู่แล้ว แต่ไม่ได้ลงชื่อสมัคร ดังนั้นทีมงานจึงต้องชักชวนให้สมัคร ซึ่งนับเป็นการรณรงค์ที่น่าสนใจ เพราะหลายครั้งที่ทางทีมงานทำงานรณรงค์กลับละเลยเพื่อนใกล้ตัว ในครั้งนี้จึงระดมกำลังจากเพื่อนๆ ได้มาก

๔. ใช้การรณรงค์ผ่านสายสัมพันธ์ ทีมงานได้คุยกันว่าสมาชิกที่สมัครเข้ามาน่าจะมีส่วนช่วยในการหาสมาชิกมาต่อ ซึ่งก็ไม่ได้ยากเกินไปที่จะขอร้อง ดังนั้นทีมงานจึงโทรศัพท์หาเพื่อนสมาชิกให้ช่วยกันหาเพื่อนร่วมโครงการอีกต่อหนึ่ง

· การกระจายข่าวสารสู่สาธารณะ

แผนกลยุทธ์ที่ทางเครือข่ายใช้คือ

๑. ผลิตสื่อ ชิ้นคือ เสื้อ โปสเตอร์ แผ่นพับ คู่มือ และสติกเกอร์

๒. จัดงานแถลงข่าวTRAVELER CAFÉ เทเวศร์ โดยเชิญ อ.โคทม อารียา ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ในสังคมที่มีความสนใจในประเด็นเรื่องเด็ก ความรุนแรงและสื่อมาตลอด , คุณวริศรา (โรส) มหากายี ซึ่งเคยทำงานสื่อ และทำงานมูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์ซึ่งเป็นกิจกรรมเกี่ยวกับเด็กด้วย มาร่วมกับองค์กรร่วมจัดอีกสองคนจากสถาบันต้นกล้าและกลุ่มละครมะขามป้อม ซึ่งน่าจะทำให้สื่อมวลชนสนใจมาทำข่าวได้

๓. จัดงานรณรงค์ ๔ ครั้ง คือ งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สวนจตุจักร และรถไฟฟ้าบีทีเอสสยาม ซึ่งในการรณรงค์ก็มีสื่อมวลชนมาทำข่าวเช่นกัน

๔. จัดงานนิทรรศการ ในวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๕๐

๕. ประสานงานกับสื่อ โดยส่งหมายกำหนดการให้สื่อมวลชนและติดต่อสื่อเป็นการส่วนตัว โดยอาศัยต้นทุนเดิมจากกิจกรรมที่ทางกลุ่มวีเช้นท์ทำคือ แนวคิดเรื่องวีเช้นจ์และตลาดแบ่งปัน โดยมีสื่อกลุ่มหนึ่งที่สนใจแนวคิดนี้

สรุปบทเรียนการรณรงค์

จุดเด่นของการรณรงค์

๑. เป้าหมายง่ายๆ ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าเป้าหมายการรณรงค์ครั้งนี้ง่ายและวัดผลได้ ซึ่งส่งผลให้สามารถมีวัตถุประสงค์อื่นๆ แทรกเข้ามาได้อีก โดยไม่รู้สึกว่าเป็นภาระมากเกินไป (ดูรายละเอียดในหัวข้อ ลักษณะของการรณรงค์ ในส่วนวัตถุประสงค์)

๒. เนื้อหาเปิดกว้าง ในแง่เนื้อหาของการรณรงค์ครั้งนี้ เน้นไปที่การทบทวนตนเองต่อพฤติกรรมการดูทีวีและการมีทางเลือกเมื่อไม่ดูทีวีมากกว่าผลกระทบจากทีวี ซึ่งเป็นความตั้งใจที่จะเน้นที่ตัวผู้ร่วมรณรงค์มากกว่าการโจมตีทีวี ซึ่งทำให้เนื้อหาค่อนข้างเปิดกว้างแก่ผู้รับสาร และผู้เกี่ยวข้องกับทีวีไม่รู้สึกว่าตนเป็นจำเลยมากเกินไป

๓. การปฏิบัติการเปิดกว้าง การรณรงค์เน้นไปที่ปฏิบัติการส่วนตัวของผู้สมัคร ซึ่งสามารถสร้างสรรค์ได้เองตามเงื่อนไขและความสนใจ ทำให้เปิดให้มีความคิดสร้างสรรค์แปลกใหม่ออกมาได้มาก

ผลที่ได้รับจากการณรงค์คือ

นอกจากผลที่ได้รับตามวัตถุประสงค์แล้ว ยังมีผลที่เป็นเชิงความรู้ตามมาจากการทำงานด้วยคือ

๑. การทำงานกับสื่อ สื่อมีความสนใจในงานรณรงค์ครั้งนี้ ซึ่งคาดว่าเนื่องจากประเด็นที่น่าสนใจ กล่าวคือ การรณรงค์ครั้งนี้มีเป้าหมายชัดเจนคือปิดทีวี แต่ก็ไม่ได้มีความหมายในเชิงลบมากเกินไป เพราะคำขวัญคือ เปิดชีวิต ปิดทีวี นอกจากนั้นคาดว่าน่าจะเกิดจากประเด็นเรื่องเนื้อหาในทีวีเป็นสิ่งที่สังคมส่วนใหญ่ให้ความสนใจอยู่แล้วเรื่องผลกระทบของทีวีต่อเด็กและสังคม

ในส่วนของท่าทีในการสื่อสารก็เป็นสิ่งที่น่าพิจารณา โดยการรณรงค์ครั้งนี้เน้นไปที่ความสนุกสนาน ซึ่งลดทอนความรู้สึกต่อต้านจากกลุ่มผู้เกี่ยวข้องกับทีวีและกลุ่มเป้าหมายได้มาก

๒. ใช้เงินน้อยได้ผลมาก เนื่องจากประเด็นน่าสนใจโดยตัวของมันเอง โดยสมาชิกทุกคนได้มีการปฏิบัติการของตนเองง่ายๆ

๓. ได้ฐานรายชื่อสมาชิก การสมัครสมาชิกเพื่อปิดทีวีทำให้ได้รายชื่อคนที่สนใจมาจำนวนมาก ซึ่งจะเป็นฐานในการรณรงค์ครั้งต่อไปได้อย่างดี

๔. ได้บทเรียนการทำงานรณรงค์แบบสายสัมพันธ์ (ดูรายละเอียดในภาคผนวก)

จุดที่จะต้องมีการพัฒนาหรือทดลองกันต่อ

๑. การมีหรือไม่มีผู้แถลงข่าว ซึ่งในครั้งแรกทางกลุ่มได้ตกลงกันว่างานนี้จะไม่มีตัวแทนแถลงข่าวเดี่ยว แต่จะเวียนกันไป เพราะไม่ต้องการสร้างวัฒนธรรมแบบผู้นำเดี่ยว แต่ก็ประสบปัญหาเรื่องประสบการณ์ของผู้ให้ข่าว และสื่อไม่รู้ว่าจะต้องติดต่อใคร รวมทั้งมีปัญหาด้านการประสานงานกับองค์กรภาคี ทำให้สื่อติดต่อได้เพียงกลุ่มวีเช้นจ์และสถาบันต้นกล้าเท่านั้น

๒. กิจกรรมเพื่อให้สมาชิกทำระหว่างไม่ดูทีวี มีกลุ่มเป้าหมายที่ทางทีมงานไปรณรงค์และสมาชิกหลายท่านได้โทรมาสอบถามทีมงานว่าปิดทีวีแล้วจะทำอะไร ทางทีมงานก็ตอบไปตามเนื้อหาในคู่มือรณรงค์โดยเน้นไปที่การสร้างสรรค์เองของสมาชิก แต่ถ้าหากการรณรงค์คราวหน้ามีคู่มือที่เสนอกิจกรรมได้หลากหลายก็จะเป็นประโยชน์มากขึ้น รวมทั้งการติดต่อประสานองค์กรที่ทำกิจกรรมเพื่อสังคมที่จะให้สมาชิกไปทำกิจกรรมก็ยังน้อยเกินไป ทำให้สมาชิกมีทางเลือกน้อย และส่งผลต่อวัตถุประสงค์ข้อ ๓ ที่มีกิจกรรมเพื่อสังคมน้อยเกินไป

๓. การกำหนดกลุ่มเป้าหมาย เดิมทีมองไว้ที่คนชั้นกลางในเมือง อายุประมาณ ๒๐-๓๕ ปี ที่มีการศึกษาและทำงานแล้ว แต่ปรากฏว่าสมาชิกส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มคนมีครอบครัว เด็กและเยาวชนสมัครเข้ามา ดังนั้นในคราวหน้าอาจจะต้องมีการทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมายมากกว่านี้ เพื่อทำสื่อและกิจกรรมที่สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น

๔. การประเมินปริมาณสื่อ ในครั้งนี้ ทีมงานประเมินแผ่นพับและโปสเตอร์ต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากขาดประสบการณ์ในการทำงานรณรงค์ขนาดใหญ่ทำให้การพิมพ์ครั้งแรกในจำนวนน้อย จนไม่พอเผยแพร่ ต้องสั่งพิมพ์ใหม่ทำให้เสียโอกาสในการสั่งพิมพ์ราคาถูก

๕. การประสานงานระหว่างองค์กรภาคี ระบบการกระจายข้อมูลข่าวสารทางวิชาการของงานรณรงค์ค่อนข้างน้อย ภาคีจึงไม่สามารถร่วมกันรณรงค์ได้อย่างเต็มที่ การร่วมมือส่วนใหญ่จึงเน้นไปที่งานจัดการ ซึ่งในปีต่อๆ ไปจะต้องพัฒนาระบบการสื่อสารในแง่มุมวิชาการมากขึ้น

๖. วางระบบสื่อสารกับสมาชิก ต้องมีการสื่อสารกับสมาชิกอย่างต่อเนื่อง อาจจะต้องพิจารณาว่าจะมีระดับความใกล้ชิดเพียงใดที่จะไม่รู้สึกอึดอัดทั้งสองฝ่ายและก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทั้งตนเองและสังคม

นี่ไม่ใช่การต่อต้านทีวี

ฮัลโหล เทสต์...

นี่ไม่ใช่การต่อต้านทีวี

แต่นี่คือการประกาศอิสรภาพจากการครอบงำ

ตื๊ดๆ

นับแต่โทรทัศน์ขาวดำถูกประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมาในประมาณปี 1925 จนกระทั่งแพร่หลายในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง แทบทุกบ้านจะต้องมีโทรทัศน์อย่างน้อยหนึ่งเครื่อง ทุกๆ หัวค่ำ สมาชิกในครอบครัวต่างก็มานั่งดูโทรทัศน์เพื่อรับข่าวสารและชมรายการบันเทิงใหม่ๆ

ในประเทศไทย จุดเริ่มต้นโทรทัศน์เกิดขึ้นในสมัยจอมพล ป.พิบูลย์สงคราม ที่เขียนจดหมายด้วยลายมือตนเองถึงอธิบดีกรมโฆษณาการลงวันที่ 29 มิถุนายน2493 เพื่อให้ดำเนินการเรื่องการนำโทรทัศน์เข้ามาในประเทศไทย โดยหลังจากนั้นก็ได้มีการติดต่อสมาคมว่าด้วยการศึกษาและวัฒนธรรมของสหประชาชาติ และบริษัท อาร์ซีเอ ซึ่งเป็นบริษัทข้ามชาติด้านการสื่อสาร

ประเทศไทยเริ่มมีการแพร่ภาพโทรทัศน์เมื่อ 24 มิถุนายน .. 2498 โดย บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด แพร่ภาพทาง สถานีโทรทัศน์ไทยทีวี ช่อง 4 จาก วังบางขุนพรหม

การนำโทรทัศน์เข้ามาในช่วงนั้น เป็นเหตุมาจากการที่สถานการณ์ทางการเมืองที่มีความขัดแย้งกันสูง รัฐบาลถูกหนังสือพิมพ์วิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก รัฐบาลจึงต้องจัดหาสื่อชนิดใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าวิทยุกระจายเสียงที่เคยเป็นกระบอกเสียงให้รัฐแต่เพียงอย่างเดียว

ซึ่งในยุคนั้นรัฐบาลอังกฤษก็ใช้โทรทัศน์เป็นสื่อในการต่อสู้กับการวิพากษ์วิจารณ์รัฐจากวิทยุเช่นกัน และยังใช้ช่วยเสริมสร้างวัฒนธรรมของการเป็นชาติอีกด้วย

โทรทัศน์เป็นผลผลิตจากสังคมทุนนิยมและรัฐชาติ โดยมีปัจจัยทางเทคโนโลยีเป็นตัวกำเนิด และแพร่หลายจากความต้องการใช้สื่อของอุดมการณ์ในการผลิตซ้ำและถ่ายทอดโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมของผู้กุมอำนาจรัฐในยุคนั้น ซึ่งก็คืออุดมการณ์แบบทุนนิยมนั่นเอง

วัฒนธรรมมวลชน

คนบางคนดูโทรทัศน์ได้ทั้งวัน ดูได้แทบทุกช่อง บางคนเปิดไว้แต่ดูบ้างไม่ดูบ้าง เดินไปเดินมา ทำงาน เดินผ่านไปมา เปิดโทรทัศน์เป็นเพื่อน ไม่รู้จะทำอะไรก็เปิดโทรทัศน์ ไม่มีอะไรดูก็กดรีโมทเปลี่ยนช่องไปเรื่อยๆ โทรทัศน์ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปโดยไม่รู้ตัว

บางคนพูดคุยถึงรายการโทรทัศน์ ทั้งข่าว ละคร รายการต่างๆ กลายเป็นหัวข้อสนทนาประจำวันทุกวัน ดูราวกับโทรทัศน์ได้กลายเป็นเครื่องมือที่ทำให้แต่ละคนต่างเชื่อมโยงกันได้

ดูเผินๆ นั่นก็เป็นสิ่งดีที่ทำให้คนเราสัมพันธ์กัน แต่หากมองผ่านพฤติกรรมเหล่านั้นเข้าไปถึงเบื้องหลังของมัน นั่นหมายถึงการเชื่อมโยงสัมพันธ์กันผ่านสิ่งที่ถูกกำหนดมาจากที่ใดที่หนึ่ง โดยกลุ่มคนเพียงกลุ่มเล็กๆ ที่ควบคุมการผลิตรายการ และแพร่สัญญาณเท่านั้น

ระบบโครงข่ายโทรทัศน์เป็นระบบที่ดูเผินๆ แล้วเหมือนกับว่ามันเปิดกว้างสำหรับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน แต่แท้ที่จริงมีข้อจำกัดที่ปิดกั้นโอกาสของคนบางพวกมาตั้งแต่ต้นแล้ว มันจึงเป็นเพียงภาพลวงที่ล่อหลอกไว้อย่างสวยงาม

การทำงานของโครงข่ายระบบโทรทัศน์ แบ่งเป็นผู้ผลิตรายการ สถานีส่งสัญญาณ และเครื่องรับโทรทัศน์ ภายใต้ระบบนี้ การจัดการจะรวมศูนย์อยู่ที่สถานีก่อนจะกระจายไปสู่เครื่องรับ

ถ้าโลกนี้มีโทรทัศน์อยู่เพียงเครื่องเดียวมันก็ไม่อาจมีผลอะไรได้มาก แต่พลังของมันประกอบไปด้วยสถานีส่งสัญญาณซึ่งถูกผูกขาดโดยรัฐอยู่ไม่กี่ช่อง ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนหรือหน่วยงานรัฐ และเครื่องรับโทรทัศน์จำนวนมากมายมหาศาล มันคือโครงข่ายของความสัมพันธ์แบบรวมศูนย์ที่ถูกจัดการอย่างเป็นระบบ

วิธีคิดของรัฐผู้ควบคุมสถานีคือควบคุมเนื้อหาและทิศทางของโทรทัศน์ให้สอดคล้องกับความมั่นคงของรัฐและชาติ

วิธีคิดของผู้ผลิตคือทำอย่างไรให้คนนิยมรายการของพวกเขามากที่สุด นั่นหมายถึงไม่ได้จำเป็นต้องเป็นรายการที่ดี แต่ต้องถูกใจคนจำนวนมากๆ ที่รับสัญญาณ นั่นคือความหมายของสื่อมวลชนภายใต้อุดมการณ์แบบทุนนิยมที่มุ่งเน้นกำไรมากกว่าปัญญา

และนี่จึงเป็นที่สิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรมมวลชน

วัฒนธรรมมวลชนไม่ได้หมายความว่าเป็นวัฒนธรรมที่ถูกผลิตโดยมวลชนอย่างกว้างขวาง เพื่อมวลชนเอง แต่วัฒนธรรมมวลชนเป็นวัฒนธรรมที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้มันตอบสนองความชอบของมวลชนให้มากที่สุด ให้มวลชนบริโภคได้มากที่สุด และท้ายที่สุดก็เพื่อควบคุมความคิดและพฤติกรรมของมวลชนให้เอื้อประโยชน์แก่ผู้สร้างวัฒนธรรมให้มากที่สุด

ในสังคมที่ชนชั้นกลางมีอิทธิพลครอบงำทางวัฒนธรรมอย่างสังคมไทย วัฒนธรรมที่ส่งผ่านมาทางสื่อมวลชนก็ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลนี้ แม้แต่คนที่เข้าไปเป็นผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ก็อยู่ในชนชั้นนี้ ดังนั้นจะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตามพวกเขากำลังผลิตวัฒนธรรมมวลชนแบบคนชั้นกลางเผยแพร่ผ่านช่องทางที่มีพลังมากที่สุดของยุคสมัย มันสามารถแทรกซึมไปทุกหนแห่ง ทั้งในบ้าน ในรถยนต์ อินเตอร์เนต และถนนหนทาง

วัฒนธรรมแบบคนชั้นกลางอาจไม่ได้เลวร้ายในตัวของมันเอง แต่การกำหนดวัฒนธรรมแบบไม่เท่าเทียมกันนี้ได้สร้างสังคมที่มีวัฒนธรรมเชิงเดี่ยวขึ้น ในขณะที่แต่ละวัฒนธรรมต่างมีลักษณะจำเพาะในแต่ละพื้นที่ ถ้าหากสังคมใดมีการครอบงำทางวัฒนธรรมเกิดขึ้นย่อมเกิดความขัดแย้งในมิติต่างๆ ขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เช่น วัฒนธรรมการซื้อของคนชั้นกลางที่อยู่ในภาคบริการกับวัฒนธรรมการซื้อของเกษตรกรรมที่อยู่ในภาคการผลิต วัฒนธรรมการแต่งกาย ความเป็นชุมชนและปัจเจก การสร้างบ้าน การรักษาโรค การใช้ทรัพยากร ความเคารพในชาติพันธุ์ ภาษา ฐานะทางเศรษฐกิจ ฯลฯ

เมื่อวัฒนธรรมของคนชั้นกลางซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคบริการเข้าไปครอบงำวัฒนธรรมของคนส่วนใหญ่ซึ่งอยู่ในภาคการผลิตซึ่งอยู่กับทรัพยากรและไม่ได้มีรายได้เป็นตัวเงิน ความขัดแย้งทางวัฒนธรรมกับวิถีชีวิตจึงเกิดขึ้น

นอกจากการครอบงำทางวัฒนธรรมแล้ว ในหมู่ของคนชั้นกลางก็เผชิญกับภาวะการตอกย้ำทางวัฒนธรรมผ่านสื่อมวลชนให้หลงวนเวียนกับความคิด ความเชื่อ และวิถีชีวิตแบบเดิมๆ ต่อไป

การผูกขาดทางวัฒนธรรมมิได้มีลักษณะเป็นเผด็จการในรูปแบบเก่าๆ อย่าง “แกจะต้องคิด เชื่อและทำในสิ่งที่ฉันบอก มิฉะนั้นจะต้องถูกลงโทษ” แต่แปรเปลี่ยนไปจากการควบคุมร่างกายมาเป็นการโจมตีความคิดและควบคุมจิตใจแทนคือ “แกมีอิสระที่จะคิด เชื่อและทำอะไรก็ได้ แต่ถ้าแกทำเช่นนั้นแกจะเป็นคนนอกสำหรับพวกฉัน”

ทำไมโทรทัศน์จึงมีพลัง

ฟังดูแล้วโทรทัศน์อาจเป็นเรื่องน่ากลัว แต่ทำไมคนมากมายถึงดูมัน มันมีพลังอะไรที่ฉุดรั้งเราให้ตรึงหน้าจอได้อย่างน่าอัศจรรย์เล่า

ภายใต้ระบบการผลิตแบบสายพานที่แบ่งคนตามหน้าที่อย่างตายตัว และโครงสร้างในสังคมที่มีการแบ่งบทบาทหน้าที่ ได้แบ่งแยกผู้คนออกเป็นส่วนๆ ปัจเจกชนตกอยู่ในภาวะที่แปลกแยกจากงานตนเองและคนอื่นๆ

การทำงานไม่ได้เป็นไปเพื่อการเลี้ยงชีพและสร้างความรู้สึกมีคุณค่าในตัวของผู้ทำอีกต่อไป การงานกลายเป็นสิ่งน่าเบื่อเพื่อการได้เงินมาจับจ่ายใช้สอยเท่านั้น งานเป็นเพียงเครื่องมือเพื่อนำไปสู่เงิน

ความแปลกแยกสร้างความเครียด เรารังเกียจทั้งงานและตนเองที่ทนทำมันไปอย่างต่อเนื่องทุกวัน

การคลายเครียดกลายเป็นกิจกรรมที่จำเป็นของผู้คนแห่งยุคสมัย กิจกรรมบันเทิงที่สร้างความผ่อนคลายได้อย่างรวดเร็วกลายเป็นสินค้าที่ผู้คนแสวงหา กลายเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำจากความผิดปกติของโครงสร้างการผลิต

ธุรกิจคาเฟ่ ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ คอนเสิร์ต การท่องเที่ยว ฯลฯ ต่างมุ่งตอบสนองความบันเทิงชั่วครั้งคราว ความบันเทิงที่คนหนึ่งมอบให้อีกคนหนึ่ง ราวกับบอกว่าเราไม่อาจสร้างความบันเทิงด้วยตัวเราเองได้ และความบันเทิงต้องสร้างโดยมืออาชีพ

ความบันเทิงเหล่านั้นล้วนแต่ต้องมีสิ่งแลกเปลี่ยนทั้งเวลาและเงินซื้อ

แต่โทรทัศน์คือความบันเทิงที่รอเราอยู่ที่บ้านและเสียเงินเพียงน้อยนิด

ภาพเคลื่อนไหวภายในกรอบสี่เหลี่ยมเชื่อมโยงเราไปสู่เรื่องราวมากมาย เปิดโลกใหม่ๆ ที่บางทีตลอดชีวิตของเราอาจไม่มีวันได้เห็นของจริง มีเรื่องราวน่าตื่นเต้น ลุ้นไปกับตัวละคร มีเรื่องตลก เศร้า สะเทือนใจ และเรื่องราวของคนอื่นๆ

พลังของโครงข่ายโทรทัศน์คือการที่ผู้ดูได้ดูอะไรเหมือนๆ กัน เรื่องราวต่างๆ ที่เผยแพร่ผ่านโทรทัศน์จึงเสมือนสิ่งเชื่อมโยงให้ผู้คนในสังคมต่างมีอะไรบางอย่างร่วมกัน

ความเหงาถูกบรรเทาเยียวยา ด้วยความรู้สึกว่าเรามีอะไรเหมือนๆ กัน

โทรทัศน์ได้สนองความต้องการพื้นฐานบางอย่างในความโหยหาของเรา ใน ๔ ด้านคือ ความเสมือนจริง ความแปลกใหม่ ความต้องการตอกย้ำความเชื่อ และความเพ้อฝัน

ภาพเคลื่อนไหวที่สมจริงราวกับย่อโลกเข้ามาอยู่ตรงหน้า ต่างจากเรื่องราวผ่านตัวหนังสือและเรื่องเล่าจากปากของมนุษย์ พาเราเดินทางไปยังโลกต่างๆ ไม่ต้องคิดมาก เพียงฟังและดูเท่านั้นเราก็สามารถผ่านเข้าไปในโลกอีกใบตรงหน้าได้แล้ว หลีกหนีจากความเป็นจริง ณ ปัจจุบันชั่วคราว ไปสู่โลกแห่งความตื่นเต้นสนุกสนาน

เรื่องราวใหม่ๆ รออยู่ตรงหน้า ไม่รู้ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง แม้เราอาจจะเดาทางตอนจบได้ว่าในที่สุดธรรมะต้องชนะอธรรม ตัวเอกจะต้องผ่านสถานการณ์เลวร้าย อาจจะต้องเสียสละตัวประกอบไปสักจำนวนหนึ่ง แต่ในที่สุดตัวร้ายจะต้องชดใช้กรรมอย่างสาสม

หรือรอลุ้นกับผู้เล่นเกมที่บางครั้งเก่งจนคาดไม่ถึงบ้างครั้งก็โง่จนอยากเอามือทุบหัวบ้าง แต่ในที่สุดเรื่องราวต่างๆ ก็จะต้องจบลง แล้วเราก็เปลี่ยนช่องไปชมเรื่องราวของโลกใบอื่นต่อไป

พวกเราเหล่าผู้ชมโทรทัศน์ต่างทราบดีว่ามีคนอีกเป็นล้านๆ กำลังดูเรื่องราวเดียวกันนี้อยู่ ผนวกกับความเสมือนจริงของเรื่องราว เรายอมรับเอาสารที่เสนอออกมาโดยไร้คำถาม เราต้องเชื่อฟังรัฐ เราต้องซื้อสินค้าที่จะสร้างความดูดีให้เรา เราต้องทำดีแม้จะไม่รู้ว่าสถานการณ์แบบที่ว่าจะมาถึงเมื่อไร เราต้องรักครอบครัวแม้จะชังน้ำหน้ากันเพียงไร เราต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด เราต้องรักสะอาด ฯลฯ เรารับเอาความเชื่อต่างๆ เข้ามาแม้ไม่รู้ว่าในชีวิตจริงๆ จะปฏิบัติตนเช่นไร แต่เราก็สามารถดำเนินชีวิตอย่างในโทรทัศน์ได้โดยไม่รู้ตัว

ชุดของความเชื่อต่างถูกนำเสนอเข้ามาในเนื้อหาของรายการต่างๆ ทีละน้อย จนกระทั่งเราคิดว่ามันเป็นความจริงที่ใครๆ เขาก็ยึดถือกัน หลังจากนั้นมันก็จะค่อยๆ ย้ำจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา เราจะรู้สึกปลอดภัยเมื่อรู้ว่าใครๆ ก็คิดกันอย่างนี้

ในโลกแห่งความเสมือนจริง เราอาจจะอินไปกับตัวละครได้โดยไม่เคอะเขิน เราอาจจะอินเพราะมันเหมือนเรา เหมือนเพื่อนเรา หรือเหมือนๆ กับที่เราคิดและต้องการ

กลไกทั้งสี่ของการนำเสนอเรื่องราวผ่านจอตอบสนองความต้องการผ่อนคลาย ความแปลกใหม่ และความเหงาของเรา เพียงไม่กี่นาทีเราก็สามารถติดตรึงและจมจ่อมอยู่กับเรื่องราวในกรอบสี่เหลี่ยมได้ไม่รู้จบ

โลกในโทรทัศน์กับโลกแห่งความจริงซ้อนทับกันอยู่ในหัวของเรา ถูกผลิตและตอกย้ำเข้ามาทุกเมื่อเชื่อวัน สนองความสุขชั่วคราว ก่อร่างสร้างตัวตนของเราให้กลายเป็นพลเมืองที่จงรัก ผู้บริโภคที่ภักดี และผู้ควบคุมสิ่งแปลกปลอมอื่นๆ ที่อาจมีใครสักคนแตกแถว

ถึงเวลาประกาศอิสรภาพ

หลายคนบอกว่าเราไม่ควรปฏิเสธโทรทัศน์ไปเสียทั้งหมด เพราะเราก็เห็นกันอยู่ว่าบางรายการก็มีเนื้อหาที่ดี และยังต้องติดตามข่าวสารอยู่ หรือเราก็อาจจะต้องรวมพลังผู้บริโภคเพื่อทำให้ผู้ผลิตทำรายการที่ดีกว่านี้

ถ้าอย่างนั้นอาจจะเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมาถกเถียงกันถึงปัญหาที่ยากจะลงตัวว่าเทคโนโลยีมีปัญหาในตัวของมันเองหรือปัญหาอยู่ที่ตัวผู้ใช้กันแน่

ปัญหาเหล่านี้มีการถกเถียงกันมาหลายยุคสมัย เช่น มีการเสนอว่า ปืน ไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายในตัวของมันเอง ถ้าหากว่าเราใช้เพื่อการป้องกันตัว นี่เป็นข้อเสนอของฝ่ายที่เชื่อว่าเทคโนโลยีเป็นกลาง ขึ้นอยู่กับตัวผู้ใช้

แต่เมื่อมองจากฝ่ายที่มองว่าเทคโนโลยีไม่เป็นกลางมาตั้งแต่แรกนั้น ปืน ถูกออกแบบมาเพื่อการทำลายชีวิต มิใช่สร้างชีวิต ซึ่งนั่นหมายถึงมันไม่อาจใช้ปลูกต้นไม้หรือรักษาโรคได้ การมีปืนหรือใช้ปืน จึงเป็นการบ่งบอกว่ามีเจตนาที่พร้อมจะทำลายชีวิต

ถ้าเราลองมองจากมุมของฝ่ายที่มองว่าเทคโนโลยีหรือสิ่งประดิษฐ์ โครงสร้างของระบบโทรทัศน์ ถูกออกแบบมาเพื่อการจัดการอย่างรวมศูนย์ ต้องใช้การระดมทรัพยากรจำนวนมากในการขับเคลื่อน ซึ่งเท่ากับว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถเข้าไปกุมการขับเคลื่อนมันได้ แต่จะต้องเป็นผู้มีอำนาจมากพอที่จะสามารถระดมและทรัพยากรจำนวนมากนั้นได้

นอกจากนั้นโทรทัศน์ยังเป็นระบบการสื่อสารแบบทางเดียวที่ทรงพลัง และผู้ยึดกุมอำนาจการสื่อสารทางเดียวสามารถสร้างอำนาจเหนือได้อย่างผูกขาด

แล้วใครล่ะที่ควรจะมารับสิทธิในการผูกขาดอำนาจนี้?

ดังนั้น ข้อเสนอที่จะเข้าไปปรับปรุงโทรทัศน์จึงเป็นสิ่งที่รับไม่ได้สำหรับฝ่ายที่มองว่าเทคโนโลยีไม่ได้เป็นกลางมาตั้งแต่ต้น

โทรทัศน์กำเนิดขึ้นมาจากเทคโนโลยีอันซับซ้อน โครงสร้างที่รวมศูนย์ของมันตอบสนองต่อความต้องการควบคุมจากที่ใดที่หนึ่ง ดังนั้นการพยายามควบคุมโทรทัศน์เท่ากับพยายามควบคุมคนในสังคม

ณ ปัจจุบัน ผู้มีอำนาจต่างพยายามเข้าไปควบคุมระบบการสื่อสาร รวมทั้งระบบโทรทัศน์ และไม่ได้เป็นเรื่องน่าแปลกใจอะไรที่พวกเขาจะใช้โทรทัศน์เพื่อตอบสนองการค้ำจุนระบบที่ทำให้พวกเขายังคงมีอำนาจต่อไป

ถึงเวลาประกาศอิสรภาพ

มนุษย์กำลังเดินทางไปไหน ระบบที่เราอยู่กำลังทำลายโลกในอัตราที่น่าตระหนกหากเพียงเราสามารถสำเหนียกได้ ขยะจากการบริโภคกองสุมโตเป็นภูเขา โลกร้อนขึ้นทุกที คนบางคนขาดโอกาสกระทั่งจะกินจะคิดจะพูด ป่าไม้อันเป็นปอดของโลกถูกทำลายลงทุกวันๆ ผู้คนหลงใหลในมายาและเฉยชาต่อธรรมชาติ วิถีชีวิตของเราเป็นเพียงกลจักรเล็กกระจ้อยร่อยในระบบอันแสนใหญ่โต

ระบบอันบิดเบี้ยวนี้ถูกตอกย้ำอยู่ทุกวันจนกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาของชีวิต

การที่ระบบเหล่านี้ดำรงอยู่ไม่ได้เป็นเพราะมีคนชั่วร้ายอย่างนายทุนหน้าเลือด หรือนายกฯ หรือสส. ที่ไหน ระบบนี้ดำรงอยู่ได้ไม่ใช่เพราะมันเป็นระบบที่ดีโดยตัวของมันเอง แต่มันอยู่ได้เพราะวันนี้เราสร้างมันขึ้นมาเอง เราใช้ชีวิตอย่างที่ระบบออกแบบมา เราไม่รู้จักระบบอื่นๆ ทั้งออกจากจะหวาดกลัวหากต้องพรากจากมันไป เราเรียนในสิ่งที่ระบบควบคุมให้เป็น เรากินสิ่งที่ระบบจัดหา เราทำงาน คิด และทำอย่างที่ระบบต้องการ

วันนี้เราเป็นผลผลิตหนึ่งของระบบนี้ และเราก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ระบบดำรงอยู่

ถ้าวันนี้เราไม่สร้างระบบ เราก็จะไม่มีระบบนี้อีกต่อไป เราอาจถูกสร้างมาจากระบบ แต่เราเลือกที่จะไม่สร้างมันต่อไปได้ เราสามารถหยุดมันได้ ปฏิเสธมันได้ เราหยุดความต่อเนื่องของมันได้

ระบบอันใหญ่โตนี้มีอยู่เพราะเราสร้างมันขึ้นมาเอง

และเราหยุดมันได้ที่ตัวเราเอง

เมื่อเราปฏิเสธที่จะผลิตซ้ำระบบ เราอาจต้องเผชิญกับความเปล่าเปลี่ยวจากอิสรภาพ เราอาจไม่รู้ว่าเราจะต้องทำอะไร อย่างไร ที่ไหน เราอาจต้องเผชิญกับความเหงาที่ถาโถมเข้ามาจากการเป็นคนนอก เผชิญกับคนรอบข้างที่ทำตนเสมือนผู้ควบคุมระบบที่รายล้อมอยู่รอบตัวเราและพร้อมที่จะแก้ไขความผิดปกติจากระบบของตัวเรา

สู่การประกาศอิสรภาพ

ระบบอันแสนซับซ้อนใหญ่โต ใครเล่าจะแก้ไข?

เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญ

เราต้องรวมพลังกันมากๆ จัดตั้งอย่างเข้มแข็ง เข้าไปยึดอำนาจ ตอนนี้ต้องรอก่อน

เราเป็นเพียงคนธรรมดา รอคนดีมีความสามารถมาแก้ไขดีกว่า คนเก่งคนดีคนมีบารมีมีอยู่มากในเมืองไทย

ทำตัวเองให้ดีก่อน

เราต้องสนับสนุนคนดีมาปกครองบ้านเมือง

.....

ถ้อยคำที่ไม่นำไปสู่การปฏิบัติเหล่านี้ เราอาจคิดขึ้นมาเองหรืออาจเป็นเพียงสิ่งที่ระบบพยายามยัดเยียดให้เราคิด จนกระทั่งเราเชื่อว่ามันจริง เราเชื่อกระทั่งว่าเราเป็นผู้คิดมันขึ้นมาเอง

หลายคนอาจบอกว่าเราทำอยู่แล้ว ทำอยู่ทุกวัน

การที่แต่ละคนต่างทำไปเพื่อขัดขืนต่อระบบโดยไม่มีใครสั่งเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม แต่มันจะเพิ่มพลังขึ้นมากเพียงไร หากเราประกาศสิ่งที่เราทำให้คนอื่นรู้

หลายคนอาจจะเอือมระอากับการชุมนุม เอือมระอากับการจัดองค์กรเป็นรูปแบบขึงขัง

การรณรงค์ปิดทีวีเป็นการทดลองรูปแบบการสร้างความสัมพันธ์เพื่อใช้อำนาจของแต่ละคนในการต่อสู้ทางวิถีชีวิต ไม่ใช่การจัดตั้ง/จัดองค์กรแบบเดิม

เราไม่จำเป็นต้องรอองค์กรจัดตั้ง ไม่จำเป็นต้องรอให้การเปลี่ยนแปลงมาถึง เราสร้างการเปลี่ยนแปลงมันได้ที่นี่เดี๋ยวนี้เลย

เรามีชีวิตที่ดีขึ้นได้ที่นี่และเดี๋ยวนี้

เริ่มต้นด้วยการปิดทีวีแล้วมีชีวิตที่ดี ใช้เวลาที่เคยใช้ไปในการดูรายการทีวีมาสร้างโลกใหม่ที่ดีงามด้วยกัน

สร้างพลังของการขัดขืนขึ้นมาในตัวเรา ประกาศตนเพื่อเชื่อมโยงกับคนอื่นๆ แล้วแผ่ขยายไปสู่การขัดขืนในมิติต่างๆ สร้างพลังของการสร้างสรรค์ใหม่ สร้างคุณค่าของเราเอง แล้วเชื่อมโยงสัมพันธ์กับคนอื่นๆ อีกมากมายที่ปรารถนาจะสร้างสังคมใหม่ที่เกื้อกูลและเป็นธรรม

แหล่งข้อมูลที่ใช้ในการเขียนบทความนี้

สิริพร สมบูรณ์บูรณะ, บก. 2536. วารสารร่มพฤกษ์ ปีที่ 12 เล่ม 1

จอนห์น ฮอลโลเวย์. พัชณีย์ คำหนัก แปล. “อำนาจและรัฐ” ใน วารสารฟ้าเดียวกัน ปีที่ 3 ฉบับที่ 3, 2548

http://th.wikipedia.org/

เอกสารหมายเลข 119 เรื่อง "วัฒนธรรมในยุคอุตสาหกรรม" เขียนโดย เธียวดอร์ อะดอร์โน, http://www.midnightuniv.org/fineartcmu2001/newpage20.html

ปิดทีวี ฮ่าฮ่าฮ่า

ปิดทีวี ฮ่าฮ่าฮ่า

การรณรงค์แนวทดลอง

การรณรงค์สัปดาห์ปิดทีวี เริ่มขึ้นเมื่อปี ๑๙๙๙ โดยกลุ่ม TV Free America โดยมีความเชื่อว่าทุกคนมีพลังอำนาจในการตรวจสอบบทบาทของรายการทีวีต่อชีวิต แทนที่จะเฝ้ารอให้รายการโทรทัศน์ดีขึ้น เราสามารถปิดมัน และเรียกเวลานั้นกลับคืน เพื่อชีวิตของเรา เพื่อนเรา และครอบครัวเรา

การเคลื่อนไหวสัปดาห์ปิดทีวีขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งปัจจุบันก็มีการรวมเป็นเครือข่าย TV Turnoff Network โดยมีกลุ่มที่ทำงานรณรงค์จากหลายประเทศ จนถึงปัจจุบันมีผู้คนจากทั่วโลกร่วมกิจกรรมสัปดาห์ปิดทีวีนับล้านคน

การรณรงค์ปิดทีวีในหลายประเทศเป็นเรื่องสนุกสนาน เช่น “ปฏิบัติการบดบังรัศมี” ที่ใช้ลูกบอลลูนทึบแสงเข้าบังจอโทรทัศน์ขนาดใหญ่ในสถานีรถไฟฟ้า การเดินขบวนโดยมีหุ่นยาว ๑๒ ฟุตชื่อเมทิลด้าและตัวละครหัวทีวีที่ทั้งร้องทั้งเต้นได้ มีการแข่งขันออกแบบโปสเตอร์รณรงค์ ขีดเขียนและพ่นสีกำแพงเพื่อเชิญชวนให้ปิดทีวี มีการแสดงละครข้างถนน ทำแอนิเมชั่นเกี่ยวกับทีวี ทำคู่มือ จัดกิจกรรมโดยชุมชนมีส่วนร่วม เช่น ร้านค้าจะให้ส่วนลดแก่ผู้มีใบสัญญาปิดทีวี หรือร่วมกันจัดกิจกรรมรื่นเริงในชุมชน

ในปีนี้งานสัปดาห์ปิดทีวีจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ ๒๓ – ๒๙ เมษายน ๒๕๕๐ ประเทศไทยจะลองรณรงค์ร่วมกับทุกคนทั่วโลก

โทรทัศน์ : เจ้ายักษ์สี่เหลี่ยมปากกว้าง

เมื่อยามแรกเกิด โทรทัศน์ได้รับการท้าทายจากละครเวทีและภาพยนตร์ว่าเป็นเพียงความบันเทิงไร้รสนิยม แต่มันได้ตอบโต้อย่างสงบเสงี่ยมด้วยการเข้าไปอยู่ในทุกครัวเรือน นำเสนอความบันเทิงถึงในบ้านทุกคน

จนถึงวันนี้เจ้ายักษ์สี่เหลี่ยมปากกว้างยังคงทำหน้าที่ของตนเองอย่างซื่อสัตย์ ยังคงรับสัญญาณที่ส่งผ่านมาจากสถานีโทรทัศน์ ที่ถูกป้อนรายการมาอีกทีโดยหน่วยงานรัฐและบริษัทผู้จัดรายการต่างๆ

นับตั้งแต่ประมาณปี ๒๔๖๘ ที่โทรทัศน์ถือกำเนิด จนกระทั่งปัจจุบันผ่านไปกว่า ๘๐ ปี แทบทุกบ้านต่างมีโทรทัศน์รับเรื่องราวจากผู้ผลิตรายการต่างๆ ที่บ้างมุ่งแสวงกำไร บ้างมุ่งนำเสนอข่าวสารของตน

ในโลกของการแสวงกำไรและอำนาจเช่นปัจจุบัน โทรทัศน์ได้กลายเป็นเครื่องมืออันทรงพลังในการจูงใจคนให้เชื่อตาม นำเสนอค่านิยม สร้างนิสัย ก่อความรู้สึกร่วม ผ่านเรื่องราวความรู้ ความบันเทิง และความแปลกใหม่

แม้จะแบกรับคำกล่าวหาใดๆ แต่โทรทัศน์ก็ยังคงทำหน้าที่ของตนเองอย่างซื่อสัตย์ ถึงจะมีการท้าทายครั้งใหม่จากคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เนตแต่ก็ยังคงอีกนานกว่าผู้ท้าชิงจะแข็งแกร่งพอที่จะต่อสู้อย่างสมน้ำสมเนื้อ

เจ้ายักษ์สี่เหลี่ยมปากกว้างยังคงทรงพลังในยุคปัจจุบัน ระบบโครงข่ายโทรทัศน์แข็งแกร่งมากพอด้วยการประสานกันอย่างแข็งขันทั้งจากผู้ผลิตรายการทีวี ที่พยายามแข่งกันเสนอความแปลกใหม่ สนุกสนานในรูปแบบต่างๆ บางบริษัทก็พยายามสร้างเนื้อหาที่ดีสำหรับผู้บริโภค แต่ด้วยข้อจำกัดของเป้าหมายบริษัทที่ต้องการอยู่รอดและมุ่งกำไรสูงสุด อีกทั้งข้อจำกัดของความเป็นตัวสื่อที่เป็นการสื่อสารทางเดียวและเป็นเพียงการนำความเสมือนจริงทำให้รายการโทรทัศน์ก็ยังเป็นเพียงความบันเทิงที่ฉาบฉวย เป็นภาพตัวแทนของความจริงที่ถูกตัดแต่งจนเสมือนว่าจริงแท้ เป็นกระบอกเสียงแก่ผู้มีอำนาจ และเป็นแหล่งเผยแพร่ค่านิยมบริโภค

ในด้านผู้บริโภคเองก็ตกอยู่ในภาวะจำยอม ในด้านหนึ่งการรับความบันเทิงอย่างโทรทัศน์นั้นต้นทุนต่ำกว่าความบันเทิงอื่น ทั้งราคาและเวลา ในอีกด้านหนึ่ง การอยู่กับโทรทัศน์นานๆ นั้นก็ได้สร้างนิสัยของผู้รับไปโดยไม่รู้ตัว ทั้งยังซึมซาบเอาค่านิยมที่ได้รับจากโทรทัศน์จนแทบเป็นหนึ่งเดียวกัน เราในฐานะผู้บริโภคมักจะรับสารจากโทรทัศน์เพื่อรับข้อมูลใหม่เพื่อตอกย้ำความเชื่อเดิมมากกว่าที่จะเพื่อตั้งคำถาม

เมื่อเราพิจารณาถึงเบื้องหลังของผู้ควบคุมโทรทัศน์ ระบบโครงข่ายใหญ่โตที่ใช้ทรัพยากรจำนวนมากนี้ คือตัวผ่านของอุดมการณ์ที่เชื่อการรวมศูนย์ การแข่งขัน การแยกคนเป็นส่วนๆ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน กำไรสูงสุด การบริโภควัตถุ

มันคือระบบขนาดใหญ่ที่อยู่ภายใต้ระบบที่ใหญ่กว่าอีกตัวหนึ่งคืออุดมการณ์ที่เชื่อในความสุขทางวัตถุ เชื่อในการสะสม รวมศูนย์ กำไรสูงสุด ความเป็นเป็นมาตรฐานเหมือน การครอบครอง กรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล ฯลฯ ผู้มียักษ์ใหญ่เป็นบริวารจำนวนมาก

ใครเล่าจะท้าทายหมู่ยักษ์

เราอาจจะได้เคยรับรู้เรื่องราวของการท้าทายระบบทุนนิยมและเผด็จการผ่านโทรทัศน์ ในแง่ของความน่ากลัว ความหลงผิด และความรุนแรง ผ่านสื่ออันทรงพลังอย่างโทรทัศน์ที่ทำหน้าที่รับใช้ผู้กุมอำนาจในขณะนั้นที่มีผลประโยชน์ขัดแย้งและเชื่อในปรัชญาแบบทุนนิยม

แต่อย่างไรก็ตาม โลกของเราได้มีการท้าทายระบบทุนนิยมครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติในนามของชุมชนนิยม (Communism-ลัทธิคอมมิวนิสต์) ตามแนวของคาร์ล มาร์กซ์และนักคิดนักปฏิบัติในสายเดียวกัน ด้วยชุดความคิดที่วิพากษ์ทุนนิยมและนำเสนอแบบจำลองสังคมใหม่ที่ดีกว่าอย่างเป็นระบบ เช่น ความเท่าเทียม การแบ่งปันทรัพยากร ฯลฯ ประกอบกับการจัดตั้งที่เข้มแข็งทั้งปิดลับและเปิดเผย ทั้งระดับฐานของสังคมและระดับนโยบายผ่านพรรคการเมือง ชุมชนนิยมนำเสนอตนเองในฐานะผู้ท้าชิงอย่างสง่างาม

แต่ด้วยเหตุปัจจัยหลายประการ การท้าทายนั้นกลับอ่อนแรงลงอย่างน่าใจหายในปัจจุบัน หลายคนเริ่มนับถอยหลังนับตั้งแต่การพังทลายของกำแพงเบอร์ลินที่แบ่งโลกทุนนิยมและสังคมเป็นสัญลักษณ์ความพ่ายแพ้ของชุดความคิดแบบพรรคคอมมิวนิสต์

การแตกกระจายของการจัดตั้งอันเข้มแข็งเกิดดอกออกผลเป็นความคิดต่างๆ จำนวนมาก บ้างยังคงเชื่อในชุดปรัชญาและวิธีเดิมของคอมมิวนิสต์ บ้างค้นคิดวิธีการใหม่ที่เอาบทเรียนจากประวัติศาสตร์มาแก้ไข บางปรัชญา บางสำนักคิด บางกลุ่มที่เดิมเคยถูกบดบังรัศมีจากความเข้มแข็งของขบวนการขนาดใหญ่นี้ ก็เริ่มส่งแสงของตนเองท้าทายลัทธิเสรีนิยม/ทุนนิยมออกมาบ้าง เช่น ชุมชนนิยมในแบบอื่นๆ ขบวนการศาสนา/จิตวิญญาณ ขบวนการรักธรรมชาติ ขบวนการสิทธิต่างๆ ฯลฯ

การท้าทายทุนนิยมครั้งใหญ่กำลังก่อตัวขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง เป็นขบวนการที่เต็มไปด้วยความหวังและการสร้างสรรค์ อาจดูกระจัดกระจาย แต่ความหลากหลายนี้จะก่อพลังอันยิ่งใหญ่ตามมา

ขบวนการโลกาภิวัตน์จากเบื้องล่าง

ในวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๒ สื่อมวลชนในสหรัฐอเมริกาและทั่วโลกต่างงุนงงและสับสนกับคลื่นขบวนของผู้คนจำนวนมากที่หลั่งไหลมาจากทั่วโลก เมื่อสื่อมวลชนเข้าไปถามถึงผู้นำ พวกเขาต่างตอบมาว่าไม่มี พวกเรานำตัวเอง เมื่อถูกถามถึงจุดมุ่งหมายพวกเขาก็ต่างตอบมาเหมือนกันว่า เพื่อหยุดการประชุม WTO (องค์การการค้าโลก) พวกเขามาจากที่หลากหลาย ความสนใจก็หลากหลาย ทั้งสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย การค้าที่เป็นธรรม สิทธิสัตว์ สิทธิทางเพศ ชนพื้นเมือง ศาสนา ศิลปะ ฯลฯ สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันก็คือการปฏิเสธการค้าที่ไม่เป็นธรรมในนามของการค้าเสรีที่จะมีการตกลงในเวทีประชุมองค์การการค้าโลก

แต่แล้วสื่อมวลชนก็ได้พบแง่มุมที่คุ้นเคย และจับประเด็นที่เขาต้องการได้เมื่อเกิดการทุบทำลายสัญลักษณ์หนึ่งของโลกทุนนิยมซึ่งก็คือร้านอาหารรับประทานด่วนที่แผ่ขยายสาขาและวัฒนธรรมการกินแบบเชิงเดี่ยวอย่างร้านแมคโดนัลด์ สื่อมวลชนชื่นชมกับข่าวนี้และนำเสนอให้เป็นภาพตัวแทนของการเคลื่อนไหวครั้งนี้ ทั้งตั้งฉายานามที่แสนจะไม่ตรงกับความจริงแก่ขบวนการเคลื่อนไหวนี้ว่า “ขบวนการต่อต้านโลกาภิวัตน์”

ทั้งที่จริงแล้วผู้เข้ามาชุมนุมในครั้งนั้นมีความคิด ความเชื่อ วิธีการที่หลากหลาย การทุบทำลายเป็นเพียงหนึ่งความเชื่อที่มีอยู่ในการชุมนุมครั้งนั้นเท่านั้น แต่ก็ไม่มีใครควบคุมกันและกัน ทุกคนเคลื่อนไหวอย่างอิสระและเคารพกันและกัน ไม่ได้อยู่ในสภาพของฝูงคนที่บ้าคลั่งแต่อย่างไร

นาม “ขบวนการต่อต้านโลกาภิวัตน์” เป็นนามที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงอย่างเห็นได้ชัด เพราะขบวนการนี้เป็นผลิตผลโดยตรงของโลกาภิวัตน์ หลายคนในขบวนการนี้สนับสนุนโลกาภิวัตน์เสียยิ่งกว่า WTO หรือIMFด้วยซ้ำ เช่น เครือข่ายนานาชาติหนึ่งที่มีบทบาทในวันนั้นคือ “ปฏิบัติการระดับโลกของประชาชน” (People's Global Action-PGA) เป็นองค์กรแรกๆ ที่ระดมกำลังเพื่อให้มีวันปฏิบัติการพร้อมกันทั่วโลก เช่นวัน J18 ซึ่งเป็นวันปฏิบัติการต่อต้านทุนนิยม ที่ผู้คนทั่วโลกออกมาประท้วงพร้อมกับการจัดประชุมสุดยอดของประเทศ G8 เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 1999 และ N30คือวันที่ 30 พฤศจิกายน 1999 เป็นวันปฏิบัติการต่อต้าน WTO พร้อมกันทั่วโลก โดยชุมนุมใหญ่ร่วมกันที่เมืองซีแอตเติล สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นที่ชุมนุมใหญ่ของ WTO

องค์กรPGA กำเนิดมาจากการประชุม “การสังสรรค์นานาชาติเพื่อมนุษยชาติและการต่อต้านเสรีนิยมใหม่” เมื่อปี 1996 ที่เมืองเชียปาส เมกซิโก ในเขตยึดครองของ ซาปาติสตา โดยในแถลงการณ์ฉบับที่ ๒ ได้ประกาศว่า “เราขอประกาศว่า เราจะสร้างเครือข่ายผนึกกำลังการต่อสู้และการต่อต้านขัดขืนทั้งหมดเข้าด้วยกัน เครือข่ายข้ามทวีปเพื่อต่อต้านลัทธิเสรีนิยมใหม่ เครือข่ายข้ามทวีปของการต่อต้านขัดขืนเพื่อมนุษยชาติ”

และที่น่าสนใจอีกอย่าง คือการประกาศว่าเครือข่ายนี้ “ไม่ใช่โครงสร้างแบบจัดตั้ง ไม่มีศูนย์กลางหรือแกนนำการตัดสินใจ ไม่มีศูนย์บัญชาการใหญ่ หรือการออกคำสั่งตามลำดับขั้น เราต่างเป็นเครือข่าย เราผู้ต่อต้านขัดขืนทุกคน”

ขบวนการต่อต้าน/ขัดขืนก่อกำเนิดขึ้นมากมายทั่วโลก ปฏิบัติการอย่างเคารพกันและกัน ด้วยความเชื่ออันหลากหลาย วิธีการที่ต่างสร้างสรรค์กันขึ้นมาตามท้องถิ่นของตนเอง

ผู้คนจำนวนมากไม่ต้องเข้าร่วมกับองค์กรอันใหญ่โต รับคำสั่งหรือความเชื่อใดๆ พวกเขาต่างคิดและทดลองทำ เรียนรู้ในขณะทำงานพร้อมๆ กับคนอื่นๆ

การท้าทายระบบทุนนิยมอันใหญ่โตและเข้มแข็งกำลังก่อกำเนิดขึ้นมา คราวนี้ไม่มีตัวแทนใดๆ มีแต่ปัจเจกชนอันมากมายหลายหลากที่ต่างเป็นตัวของตัวเองและเคารพกันและกัน เราอาจเรียกขบวนการนี้ไปพลางๆ ว่า “ขบวนการโลกาภิวัตน์จากเบื้องล่าง”

รณรงค์ปิดทีวี : การท้าทายจากเบื้องล่าง

เมื่อเรานึกถึงงานรณรงค์ เรานึกถึงอะไร?

มีนักการเมืองหรือหน่วยงานรัฐออกมาบอกความจำเป็นของประเทศชาติ มีดาราออกมาแสดงตัว มีนักร้องมาร้องเพลง มาขอความร่วมมือ มีสื่อต่างๆ ออกมาประโคมข่าว ก่อกระแส ทั้ง เอกสารแจก สื่อต่างๆ วิทยุ หนังสือพิมพ์ รวมทั้งโทรทัศน์ต่างเผยแพร่กระจายข่าว

ทรัพยากรต่างๆ ทั้งเงิน เวลา แรงงาน และพื้นที่ ถูกระดมเพื่อการรณรงค์ให้เกิดการปฏิบัติตามความคิดความเชื่อที่ผู้รณรงค์ต้องการ

คนเล็กคนน้อยที่ไร้ทรัพยากร ก็เป็นได้แค่เพียงผู้รับสารและกลุ่มเป้าหมาย...

การรณรงค์ปิดทีวี ฮ่าฮ่าฮ่า เป็นความพยายามทดลองสร้างงานรณรงค์ด้วยมุมมองที่ต่างออกไป เป็นงานรณรงค์จากเบื้องล่าง เพื่อท้าทายความยิ่งใหญ่ของระบบการจัดการ ระบบสื่อสารมวลชนขนาดใหญ่ การระดมทรัพนากรจำนวนมหาศาล มาทดลองสร้างการรณรงค์ที่อาศัยฐานความสัมพันธ์ ใช้พลังของมนุษย์เล็กๆ และการเคารพความแตกต่างหลากหลาย

หลักการกว้างๆ ที่การรณรงค์พยายามทดลองใช้มีอยู่ ๓ หลักคือแนวราบ ความสัมพันธ์และสนุกสนาน

. การจัดองค์กรแบบแนวราบ

การดำเนินงานรณรงค์มีลักษณะเป็นเครือข่าย โดยแต่ละองค์กรต่างก็มีความสนใจในประเด็นการรณรงค์แตกต่างกันไป เช่น บางองค์กรเห็นว่ารายการข่าวสารของโทรทัศน์เป็นสิ่งบิดเบือน บางองค์กรเห็นว่าการูโทรทัศน์มากไปเป็นผลเสียแก่เยาวชน บางองค์กรเห็นว่าควรให้ความสำคัญกับสื่ออื่นมากขึ้น บางองค์กรเห็นว่าเป็นเรื่องสนุก ฯลฯ ทุกองค์กรเห็นว่าเราอาจมีความสนใจเนื้อหาต่างกันได้ อาจเพียงเห็นด้วยกันเพียงประเด็นและเป้าหมายของงานเท่านั้นก็ได้ ไม่มีใครเป็นผู้นำชัดเจนเด็ดขาด จะมีก็เพียงผู้รับหน้าที่ ซึ่งอาจจะรับภาระไม่เท่ากันก็ได้

รูปแบบของการรณรงค์ ไม่เน้นที่การเป็นข่าวใหญ่โตหรือปริมาณผู้เข้าร่วมโครงการ แต่เน้นที่การได้มาซึ่งสมาชิกผู้ลงชื่อปิดทีวี อันถือเป็นส่วนสำคัญในการรณรงค์ เป็นตัวขับเคลื่อนการรณรงค์

และที่สำคัญคือในอนาคตจะเป็นส่วนคิดและตัดสินใจ เช่น การรณรงค์ครั้งต่อไปจะอาศัยการตัดสินใจจากหมู่สมาชิกว่าเนื้อหา ประเด็นและรูปแบบน่าจะเป็นอย่างไร รวมทั้งการรณรงค์ในประเด็นอื่นๆ ที่จะติดตามมาอีก เช่น ปิดโทรศัพท์มือถือ งดชอปปิ้ง ใช้ชีวิตช้าๆ ฯลฯ

การจัดองค์กรเช่นนี้เกิดจากความเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีปัญญาและสามารถใช้ศักยภาพในการสร้างสรรค์ของตนอย่างเต็มที่ได้ภายใต้ความสัมพันธ์แบบไม่มีอำนาจตามลำดับขั้นและเคารพกันและกัน ซึ่งต่างจากวัฒนธรรมแบบรวมศูนย์อำนาจและให้ความสำคัญกับตำแหน่งหรือความเชี่ยวชาญ

. การรณรงค์แบบใช้ฐานความสัมพันธ์

การรณรงค์โดยทั่วไปมักจะเป็นการรณรงค์ที่มีกระบวนการที่เริ่มจากการให้ข้อมูล เปลี่ยนทัศนคติ และเปลี่ยนพฤติกรรม โดยมีศูนย์กลางรณรงค์เพียงศูนย์เดียว กลุ่มเป้าหมายเป็นเพียงผู้รับสารและเปลี่ยนพฤติกรรมเท่านั้น

แต่การรณรงค์โดยใช้ฐานความสัมพันธ์จะเริ่มจากฐานความเชื่อว่าทุกคนมีความปรารถนาจะทำสิ่งที่ดีต่อชีวิตตนเอง คนอื่นและโลกอยู่แล้ว ดังนั้นสิ่งที่จะต้องทำก็คือ เราจะทำอย่างไรให้คนเหล่านี้แสดงตนออกมา จากนั้นก็ร่วมกันสร้างวิธีการขยายผลจากตัวเองสู่คนรอบข้างออกไปเรื่อยๆ นั่นหมายถึงทุกคนๆ ก็คือผู้รณรงค์นั่นเอง

นี่เปรียบเสมือนการเจริญเติบโตแบบจอกแหน ซึ่งแตกตัวจากหนึ่งไปสอง สองไปสี่ สี่ไปแปด และแปดไปสิบหก เรื่อยๆ

อีกแง่หนึ่งการรณรงค์แบบใช้ฐานความสัมพันธ์จะมุ่งไปที่การพบปะกันตัวต่อตัวมากกว่าผ่านสื่อ ซึ่งในช่วงแรกอาจจะช้า แต่จะมั่นคงและขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงท้าย ซึ่งน่าจะสอดคล้องกับระบบความสัมพันธ์แบบไทยที่เน้นความสัมพันธ์แบบเห็นหน้าเห็นตาเป็นส่วนสำคัญ

. การรณรงค์ที่สนุกสนาน

จะอย่างไรก็ตาม การต่อสู้กับระบบทุนนิยมอันใหญ่โตในปัจจุบันนั้นเป็นเรื่องยากและยาวนาน การทำงานเพื่อขัดขืน ฟื้นคุณค่าอันดีงาม สร้างสรรค์คุณค่าใหม่นั้นจึงจำเป็นต้องเป็นไปอย่างไม่ทำร้ายตนเอง เราคงต้องมีวัฒนธรรมของความสนุกสนาน ไม่หวังผลเฉพาะหน้ามากเกินไป เปิดกว้าง รับฟัง เรียนรู้จากกันและกัน รวมทั้งเปิดโอกาสให้ความผิดพลาดบ้าง

หลายครั้งที่ความปรารถนาดีและความตั้งใจจริงของเราทำร้ายตนเองและคนอื่นโดยไม่รู้ตัว เราเชื่อว่าสิ่งที่เราทำนั้นดีและน่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนอื่น แต่ในหลายกรณีสิ่งนั้นอาจยังไม่เหมาะกับคนอื่นในเวลานั้น ซึ่งหากเรามุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงเกินไปก็จะก่อให้เกิดความทุกข์ทั้งเราและคนอื่น

การรณรงค์ที่สนุกสนานในที่นี้ไม่ได้หมายถึงความสนุกสนานแบบหวือหวาเหมือนความบันเทิงแบบมืออาชีพหรือการแสดงที่เราเห็นในทีวี ซึ่งเป็นการพยายามที่จะทำให้คนอื่นบันเทิง แต่ถ้าเรามุ่งที่การพยายามให้ทั้งเราและคนอื่นสนุกสนาน นั่นอาจหมายถึงการปล่อยสบายๆ ไม่ทุกข์ร้อนกับการพยายามทำให้คนเข้าร่วมเป็นสมาชิกมากเกิน มีความสุขกับการสร้างสรรค์ ทำในสิ่งที่เราชอบและสนุก ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ฯลฯ

โลกเปลี่ยนเพราะฉันเปลี่ยน ทุกวันฉันเปลี่ยนแปลงโลก

การทดลองครั้งนี้ ถ้าล้มเหลว นั่นก็เป็นเพียงขั้นตอนที่ต้องผ่าน ถ้ามันสำเร็จนั่นก็อาจเป็นแรงผลักดันที่จะนำไปสู่การท้าทายที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งอาจจะมีทั้งความสำเร็จและล้มเหลวรอคอยอยู่ข้างหน้า

ถ้าโลกมันไม่ปกติ ไม่เกื้อหนุนให้คนใช้ชีวิตอย่างที่ควรจะเป็น ไม่นำไปสู่ชีวิตและจิตใจที่ดีขึ้น เราก็ต้องเปลี่ยนมัน ถ้าปัญหามันยิ่งใหญ่ เราก็ต้องยิ่งใหญ่พอที่จะจัดการมัน ความยิ่งใหญ่อาจไม่ได้หมายถึงยิ่งใหญ่ตามเกมที่เขากำหนด เราสร้างความยิ่งใหญ่ของเราได้เอง

การท้าทายจากเบื้องล่างอาจจะดูเล็กๆ หากมองด้วยมุมของการควบคุมจากเบื้องบน แต่ความยิ่งใหญ่ของการท้าทายจากเบื้องล่างอาจเป็นความหวังอันงดงาม เป็นความสนุกสนานที่ไม่หวือหวา เป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ที่ไม่ผ่านสื่อ หรืออะไรก็ได้ตามที่เราจะสามารถนิยามมันขึ้นมาเอง

เราสร้างโลกใบใหม่ขึ้นมาได้ทุกวัน สร้างขึ้นมาในหัวใจเรา แผ่ขยายสู่คนรอบข้าง ก่อผลสะเทือนสู่สังคมและโลก

คุณอยากเปลี่ยนแปลงโลกใช่ไหม ขอเราร่วมด้วยคนสิ

เอกสารประกอบการเขียน

- _______ . “คู่มือปิดทีวี” สถาบันต้นกล้า. กรุงเทพ.

- เดวิด เกรเบอร์ เขียน ภัควดี วีระภาสพงษ์ แปล. 2547. “นักอนาธิปไตยแนวใหม่” วารสารฟ้าเดียวกัน. ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๔