วันจันทร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2550

นี่ไม่ใช่การต่อต้านทีวี

ฮัลโหล เทสต์...

นี่ไม่ใช่การต่อต้านทีวี

แต่นี่คือการประกาศอิสรภาพจากการครอบงำ

ตื๊ดๆ

นับแต่โทรทัศน์ขาวดำถูกประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมาในประมาณปี 1925 จนกระทั่งแพร่หลายในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง แทบทุกบ้านจะต้องมีโทรทัศน์อย่างน้อยหนึ่งเครื่อง ทุกๆ หัวค่ำ สมาชิกในครอบครัวต่างก็มานั่งดูโทรทัศน์เพื่อรับข่าวสารและชมรายการบันเทิงใหม่ๆ

ในประเทศไทย จุดเริ่มต้นโทรทัศน์เกิดขึ้นในสมัยจอมพล ป.พิบูลย์สงคราม ที่เขียนจดหมายด้วยลายมือตนเองถึงอธิบดีกรมโฆษณาการลงวันที่ 29 มิถุนายน2493 เพื่อให้ดำเนินการเรื่องการนำโทรทัศน์เข้ามาในประเทศไทย โดยหลังจากนั้นก็ได้มีการติดต่อสมาคมว่าด้วยการศึกษาและวัฒนธรรมของสหประชาชาติ และบริษัท อาร์ซีเอ ซึ่งเป็นบริษัทข้ามชาติด้านการสื่อสาร

ประเทศไทยเริ่มมีการแพร่ภาพโทรทัศน์เมื่อ 24 มิถุนายน .. 2498 โดย บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด แพร่ภาพทาง สถานีโทรทัศน์ไทยทีวี ช่อง 4 จาก วังบางขุนพรหม

การนำโทรทัศน์เข้ามาในช่วงนั้น เป็นเหตุมาจากการที่สถานการณ์ทางการเมืองที่มีความขัดแย้งกันสูง รัฐบาลถูกหนังสือพิมพ์วิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก รัฐบาลจึงต้องจัดหาสื่อชนิดใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าวิทยุกระจายเสียงที่เคยเป็นกระบอกเสียงให้รัฐแต่เพียงอย่างเดียว

ซึ่งในยุคนั้นรัฐบาลอังกฤษก็ใช้โทรทัศน์เป็นสื่อในการต่อสู้กับการวิพากษ์วิจารณ์รัฐจากวิทยุเช่นกัน และยังใช้ช่วยเสริมสร้างวัฒนธรรมของการเป็นชาติอีกด้วย

โทรทัศน์เป็นผลผลิตจากสังคมทุนนิยมและรัฐชาติ โดยมีปัจจัยทางเทคโนโลยีเป็นตัวกำเนิด และแพร่หลายจากความต้องการใช้สื่อของอุดมการณ์ในการผลิตซ้ำและถ่ายทอดโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมของผู้กุมอำนาจรัฐในยุคนั้น ซึ่งก็คืออุดมการณ์แบบทุนนิยมนั่นเอง

วัฒนธรรมมวลชน

คนบางคนดูโทรทัศน์ได้ทั้งวัน ดูได้แทบทุกช่อง บางคนเปิดไว้แต่ดูบ้างไม่ดูบ้าง เดินไปเดินมา ทำงาน เดินผ่านไปมา เปิดโทรทัศน์เป็นเพื่อน ไม่รู้จะทำอะไรก็เปิดโทรทัศน์ ไม่มีอะไรดูก็กดรีโมทเปลี่ยนช่องไปเรื่อยๆ โทรทัศน์ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปโดยไม่รู้ตัว

บางคนพูดคุยถึงรายการโทรทัศน์ ทั้งข่าว ละคร รายการต่างๆ กลายเป็นหัวข้อสนทนาประจำวันทุกวัน ดูราวกับโทรทัศน์ได้กลายเป็นเครื่องมือที่ทำให้แต่ละคนต่างเชื่อมโยงกันได้

ดูเผินๆ นั่นก็เป็นสิ่งดีที่ทำให้คนเราสัมพันธ์กัน แต่หากมองผ่านพฤติกรรมเหล่านั้นเข้าไปถึงเบื้องหลังของมัน นั่นหมายถึงการเชื่อมโยงสัมพันธ์กันผ่านสิ่งที่ถูกกำหนดมาจากที่ใดที่หนึ่ง โดยกลุ่มคนเพียงกลุ่มเล็กๆ ที่ควบคุมการผลิตรายการ และแพร่สัญญาณเท่านั้น

ระบบโครงข่ายโทรทัศน์เป็นระบบที่ดูเผินๆ แล้วเหมือนกับว่ามันเปิดกว้างสำหรับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน แต่แท้ที่จริงมีข้อจำกัดที่ปิดกั้นโอกาสของคนบางพวกมาตั้งแต่ต้นแล้ว มันจึงเป็นเพียงภาพลวงที่ล่อหลอกไว้อย่างสวยงาม

การทำงานของโครงข่ายระบบโทรทัศน์ แบ่งเป็นผู้ผลิตรายการ สถานีส่งสัญญาณ และเครื่องรับโทรทัศน์ ภายใต้ระบบนี้ การจัดการจะรวมศูนย์อยู่ที่สถานีก่อนจะกระจายไปสู่เครื่องรับ

ถ้าโลกนี้มีโทรทัศน์อยู่เพียงเครื่องเดียวมันก็ไม่อาจมีผลอะไรได้มาก แต่พลังของมันประกอบไปด้วยสถานีส่งสัญญาณซึ่งถูกผูกขาดโดยรัฐอยู่ไม่กี่ช่อง ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนหรือหน่วยงานรัฐ และเครื่องรับโทรทัศน์จำนวนมากมายมหาศาล มันคือโครงข่ายของความสัมพันธ์แบบรวมศูนย์ที่ถูกจัดการอย่างเป็นระบบ

วิธีคิดของรัฐผู้ควบคุมสถานีคือควบคุมเนื้อหาและทิศทางของโทรทัศน์ให้สอดคล้องกับความมั่นคงของรัฐและชาติ

วิธีคิดของผู้ผลิตคือทำอย่างไรให้คนนิยมรายการของพวกเขามากที่สุด นั่นหมายถึงไม่ได้จำเป็นต้องเป็นรายการที่ดี แต่ต้องถูกใจคนจำนวนมากๆ ที่รับสัญญาณ นั่นคือความหมายของสื่อมวลชนภายใต้อุดมการณ์แบบทุนนิยมที่มุ่งเน้นกำไรมากกว่าปัญญา

และนี่จึงเป็นที่สิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรมมวลชน

วัฒนธรรมมวลชนไม่ได้หมายความว่าเป็นวัฒนธรรมที่ถูกผลิตโดยมวลชนอย่างกว้างขวาง เพื่อมวลชนเอง แต่วัฒนธรรมมวลชนเป็นวัฒนธรรมที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้มันตอบสนองความชอบของมวลชนให้มากที่สุด ให้มวลชนบริโภคได้มากที่สุด และท้ายที่สุดก็เพื่อควบคุมความคิดและพฤติกรรมของมวลชนให้เอื้อประโยชน์แก่ผู้สร้างวัฒนธรรมให้มากที่สุด

ในสังคมที่ชนชั้นกลางมีอิทธิพลครอบงำทางวัฒนธรรมอย่างสังคมไทย วัฒนธรรมที่ส่งผ่านมาทางสื่อมวลชนก็ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลนี้ แม้แต่คนที่เข้าไปเป็นผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ก็อยู่ในชนชั้นนี้ ดังนั้นจะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตามพวกเขากำลังผลิตวัฒนธรรมมวลชนแบบคนชั้นกลางเผยแพร่ผ่านช่องทางที่มีพลังมากที่สุดของยุคสมัย มันสามารถแทรกซึมไปทุกหนแห่ง ทั้งในบ้าน ในรถยนต์ อินเตอร์เนต และถนนหนทาง

วัฒนธรรมแบบคนชั้นกลางอาจไม่ได้เลวร้ายในตัวของมันเอง แต่การกำหนดวัฒนธรรมแบบไม่เท่าเทียมกันนี้ได้สร้างสังคมที่มีวัฒนธรรมเชิงเดี่ยวขึ้น ในขณะที่แต่ละวัฒนธรรมต่างมีลักษณะจำเพาะในแต่ละพื้นที่ ถ้าหากสังคมใดมีการครอบงำทางวัฒนธรรมเกิดขึ้นย่อมเกิดความขัดแย้งในมิติต่างๆ ขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เช่น วัฒนธรรมการซื้อของคนชั้นกลางที่อยู่ในภาคบริการกับวัฒนธรรมการซื้อของเกษตรกรรมที่อยู่ในภาคการผลิต วัฒนธรรมการแต่งกาย ความเป็นชุมชนและปัจเจก การสร้างบ้าน การรักษาโรค การใช้ทรัพยากร ความเคารพในชาติพันธุ์ ภาษา ฐานะทางเศรษฐกิจ ฯลฯ

เมื่อวัฒนธรรมของคนชั้นกลางซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคบริการเข้าไปครอบงำวัฒนธรรมของคนส่วนใหญ่ซึ่งอยู่ในภาคการผลิตซึ่งอยู่กับทรัพยากรและไม่ได้มีรายได้เป็นตัวเงิน ความขัดแย้งทางวัฒนธรรมกับวิถีชีวิตจึงเกิดขึ้น

นอกจากการครอบงำทางวัฒนธรรมแล้ว ในหมู่ของคนชั้นกลางก็เผชิญกับภาวะการตอกย้ำทางวัฒนธรรมผ่านสื่อมวลชนให้หลงวนเวียนกับความคิด ความเชื่อ และวิถีชีวิตแบบเดิมๆ ต่อไป

การผูกขาดทางวัฒนธรรมมิได้มีลักษณะเป็นเผด็จการในรูปแบบเก่าๆ อย่าง “แกจะต้องคิด เชื่อและทำในสิ่งที่ฉันบอก มิฉะนั้นจะต้องถูกลงโทษ” แต่แปรเปลี่ยนไปจากการควบคุมร่างกายมาเป็นการโจมตีความคิดและควบคุมจิตใจแทนคือ “แกมีอิสระที่จะคิด เชื่อและทำอะไรก็ได้ แต่ถ้าแกทำเช่นนั้นแกจะเป็นคนนอกสำหรับพวกฉัน”

ทำไมโทรทัศน์จึงมีพลัง

ฟังดูแล้วโทรทัศน์อาจเป็นเรื่องน่ากลัว แต่ทำไมคนมากมายถึงดูมัน มันมีพลังอะไรที่ฉุดรั้งเราให้ตรึงหน้าจอได้อย่างน่าอัศจรรย์เล่า

ภายใต้ระบบการผลิตแบบสายพานที่แบ่งคนตามหน้าที่อย่างตายตัว และโครงสร้างในสังคมที่มีการแบ่งบทบาทหน้าที่ ได้แบ่งแยกผู้คนออกเป็นส่วนๆ ปัจเจกชนตกอยู่ในภาวะที่แปลกแยกจากงานตนเองและคนอื่นๆ

การทำงานไม่ได้เป็นไปเพื่อการเลี้ยงชีพและสร้างความรู้สึกมีคุณค่าในตัวของผู้ทำอีกต่อไป การงานกลายเป็นสิ่งน่าเบื่อเพื่อการได้เงินมาจับจ่ายใช้สอยเท่านั้น งานเป็นเพียงเครื่องมือเพื่อนำไปสู่เงิน

ความแปลกแยกสร้างความเครียด เรารังเกียจทั้งงานและตนเองที่ทนทำมันไปอย่างต่อเนื่องทุกวัน

การคลายเครียดกลายเป็นกิจกรรมที่จำเป็นของผู้คนแห่งยุคสมัย กิจกรรมบันเทิงที่สร้างความผ่อนคลายได้อย่างรวดเร็วกลายเป็นสินค้าที่ผู้คนแสวงหา กลายเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำจากความผิดปกติของโครงสร้างการผลิต

ธุรกิจคาเฟ่ ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ คอนเสิร์ต การท่องเที่ยว ฯลฯ ต่างมุ่งตอบสนองความบันเทิงชั่วครั้งคราว ความบันเทิงที่คนหนึ่งมอบให้อีกคนหนึ่ง ราวกับบอกว่าเราไม่อาจสร้างความบันเทิงด้วยตัวเราเองได้ และความบันเทิงต้องสร้างโดยมืออาชีพ

ความบันเทิงเหล่านั้นล้วนแต่ต้องมีสิ่งแลกเปลี่ยนทั้งเวลาและเงินซื้อ

แต่โทรทัศน์คือความบันเทิงที่รอเราอยู่ที่บ้านและเสียเงินเพียงน้อยนิด

ภาพเคลื่อนไหวภายในกรอบสี่เหลี่ยมเชื่อมโยงเราไปสู่เรื่องราวมากมาย เปิดโลกใหม่ๆ ที่บางทีตลอดชีวิตของเราอาจไม่มีวันได้เห็นของจริง มีเรื่องราวน่าตื่นเต้น ลุ้นไปกับตัวละคร มีเรื่องตลก เศร้า สะเทือนใจ และเรื่องราวของคนอื่นๆ

พลังของโครงข่ายโทรทัศน์คือการที่ผู้ดูได้ดูอะไรเหมือนๆ กัน เรื่องราวต่างๆ ที่เผยแพร่ผ่านโทรทัศน์จึงเสมือนสิ่งเชื่อมโยงให้ผู้คนในสังคมต่างมีอะไรบางอย่างร่วมกัน

ความเหงาถูกบรรเทาเยียวยา ด้วยความรู้สึกว่าเรามีอะไรเหมือนๆ กัน

โทรทัศน์ได้สนองความต้องการพื้นฐานบางอย่างในความโหยหาของเรา ใน ๔ ด้านคือ ความเสมือนจริง ความแปลกใหม่ ความต้องการตอกย้ำความเชื่อ และความเพ้อฝัน

ภาพเคลื่อนไหวที่สมจริงราวกับย่อโลกเข้ามาอยู่ตรงหน้า ต่างจากเรื่องราวผ่านตัวหนังสือและเรื่องเล่าจากปากของมนุษย์ พาเราเดินทางไปยังโลกต่างๆ ไม่ต้องคิดมาก เพียงฟังและดูเท่านั้นเราก็สามารถผ่านเข้าไปในโลกอีกใบตรงหน้าได้แล้ว หลีกหนีจากความเป็นจริง ณ ปัจจุบันชั่วคราว ไปสู่โลกแห่งความตื่นเต้นสนุกสนาน

เรื่องราวใหม่ๆ รออยู่ตรงหน้า ไม่รู้ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง แม้เราอาจจะเดาทางตอนจบได้ว่าในที่สุดธรรมะต้องชนะอธรรม ตัวเอกจะต้องผ่านสถานการณ์เลวร้าย อาจจะต้องเสียสละตัวประกอบไปสักจำนวนหนึ่ง แต่ในที่สุดตัวร้ายจะต้องชดใช้กรรมอย่างสาสม

หรือรอลุ้นกับผู้เล่นเกมที่บางครั้งเก่งจนคาดไม่ถึงบ้างครั้งก็โง่จนอยากเอามือทุบหัวบ้าง แต่ในที่สุดเรื่องราวต่างๆ ก็จะต้องจบลง แล้วเราก็เปลี่ยนช่องไปชมเรื่องราวของโลกใบอื่นต่อไป

พวกเราเหล่าผู้ชมโทรทัศน์ต่างทราบดีว่ามีคนอีกเป็นล้านๆ กำลังดูเรื่องราวเดียวกันนี้อยู่ ผนวกกับความเสมือนจริงของเรื่องราว เรายอมรับเอาสารที่เสนอออกมาโดยไร้คำถาม เราต้องเชื่อฟังรัฐ เราต้องซื้อสินค้าที่จะสร้างความดูดีให้เรา เราต้องทำดีแม้จะไม่รู้ว่าสถานการณ์แบบที่ว่าจะมาถึงเมื่อไร เราต้องรักครอบครัวแม้จะชังน้ำหน้ากันเพียงไร เราต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด เราต้องรักสะอาด ฯลฯ เรารับเอาความเชื่อต่างๆ เข้ามาแม้ไม่รู้ว่าในชีวิตจริงๆ จะปฏิบัติตนเช่นไร แต่เราก็สามารถดำเนินชีวิตอย่างในโทรทัศน์ได้โดยไม่รู้ตัว

ชุดของความเชื่อต่างถูกนำเสนอเข้ามาในเนื้อหาของรายการต่างๆ ทีละน้อย จนกระทั่งเราคิดว่ามันเป็นความจริงที่ใครๆ เขาก็ยึดถือกัน หลังจากนั้นมันก็จะค่อยๆ ย้ำจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา เราจะรู้สึกปลอดภัยเมื่อรู้ว่าใครๆ ก็คิดกันอย่างนี้

ในโลกแห่งความเสมือนจริง เราอาจจะอินไปกับตัวละครได้โดยไม่เคอะเขิน เราอาจจะอินเพราะมันเหมือนเรา เหมือนเพื่อนเรา หรือเหมือนๆ กับที่เราคิดและต้องการ

กลไกทั้งสี่ของการนำเสนอเรื่องราวผ่านจอตอบสนองความต้องการผ่อนคลาย ความแปลกใหม่ และความเหงาของเรา เพียงไม่กี่นาทีเราก็สามารถติดตรึงและจมจ่อมอยู่กับเรื่องราวในกรอบสี่เหลี่ยมได้ไม่รู้จบ

โลกในโทรทัศน์กับโลกแห่งความจริงซ้อนทับกันอยู่ในหัวของเรา ถูกผลิตและตอกย้ำเข้ามาทุกเมื่อเชื่อวัน สนองความสุขชั่วคราว ก่อร่างสร้างตัวตนของเราให้กลายเป็นพลเมืองที่จงรัก ผู้บริโภคที่ภักดี และผู้ควบคุมสิ่งแปลกปลอมอื่นๆ ที่อาจมีใครสักคนแตกแถว

ถึงเวลาประกาศอิสรภาพ

หลายคนบอกว่าเราไม่ควรปฏิเสธโทรทัศน์ไปเสียทั้งหมด เพราะเราก็เห็นกันอยู่ว่าบางรายการก็มีเนื้อหาที่ดี และยังต้องติดตามข่าวสารอยู่ หรือเราก็อาจจะต้องรวมพลังผู้บริโภคเพื่อทำให้ผู้ผลิตทำรายการที่ดีกว่านี้

ถ้าอย่างนั้นอาจจะเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมาถกเถียงกันถึงปัญหาที่ยากจะลงตัวว่าเทคโนโลยีมีปัญหาในตัวของมันเองหรือปัญหาอยู่ที่ตัวผู้ใช้กันแน่

ปัญหาเหล่านี้มีการถกเถียงกันมาหลายยุคสมัย เช่น มีการเสนอว่า ปืน ไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายในตัวของมันเอง ถ้าหากว่าเราใช้เพื่อการป้องกันตัว นี่เป็นข้อเสนอของฝ่ายที่เชื่อว่าเทคโนโลยีเป็นกลาง ขึ้นอยู่กับตัวผู้ใช้

แต่เมื่อมองจากฝ่ายที่มองว่าเทคโนโลยีไม่เป็นกลางมาตั้งแต่แรกนั้น ปืน ถูกออกแบบมาเพื่อการทำลายชีวิต มิใช่สร้างชีวิต ซึ่งนั่นหมายถึงมันไม่อาจใช้ปลูกต้นไม้หรือรักษาโรคได้ การมีปืนหรือใช้ปืน จึงเป็นการบ่งบอกว่ามีเจตนาที่พร้อมจะทำลายชีวิต

ถ้าเราลองมองจากมุมของฝ่ายที่มองว่าเทคโนโลยีหรือสิ่งประดิษฐ์ โครงสร้างของระบบโทรทัศน์ ถูกออกแบบมาเพื่อการจัดการอย่างรวมศูนย์ ต้องใช้การระดมทรัพยากรจำนวนมากในการขับเคลื่อน ซึ่งเท่ากับว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถเข้าไปกุมการขับเคลื่อนมันได้ แต่จะต้องเป็นผู้มีอำนาจมากพอที่จะสามารถระดมและทรัพยากรจำนวนมากนั้นได้

นอกจากนั้นโทรทัศน์ยังเป็นระบบการสื่อสารแบบทางเดียวที่ทรงพลัง และผู้ยึดกุมอำนาจการสื่อสารทางเดียวสามารถสร้างอำนาจเหนือได้อย่างผูกขาด

แล้วใครล่ะที่ควรจะมารับสิทธิในการผูกขาดอำนาจนี้?

ดังนั้น ข้อเสนอที่จะเข้าไปปรับปรุงโทรทัศน์จึงเป็นสิ่งที่รับไม่ได้สำหรับฝ่ายที่มองว่าเทคโนโลยีไม่ได้เป็นกลางมาตั้งแต่ต้น

โทรทัศน์กำเนิดขึ้นมาจากเทคโนโลยีอันซับซ้อน โครงสร้างที่รวมศูนย์ของมันตอบสนองต่อความต้องการควบคุมจากที่ใดที่หนึ่ง ดังนั้นการพยายามควบคุมโทรทัศน์เท่ากับพยายามควบคุมคนในสังคม

ณ ปัจจุบัน ผู้มีอำนาจต่างพยายามเข้าไปควบคุมระบบการสื่อสาร รวมทั้งระบบโทรทัศน์ และไม่ได้เป็นเรื่องน่าแปลกใจอะไรที่พวกเขาจะใช้โทรทัศน์เพื่อตอบสนองการค้ำจุนระบบที่ทำให้พวกเขายังคงมีอำนาจต่อไป

ถึงเวลาประกาศอิสรภาพ

มนุษย์กำลังเดินทางไปไหน ระบบที่เราอยู่กำลังทำลายโลกในอัตราที่น่าตระหนกหากเพียงเราสามารถสำเหนียกได้ ขยะจากการบริโภคกองสุมโตเป็นภูเขา โลกร้อนขึ้นทุกที คนบางคนขาดโอกาสกระทั่งจะกินจะคิดจะพูด ป่าไม้อันเป็นปอดของโลกถูกทำลายลงทุกวันๆ ผู้คนหลงใหลในมายาและเฉยชาต่อธรรมชาติ วิถีชีวิตของเราเป็นเพียงกลจักรเล็กกระจ้อยร่อยในระบบอันแสนใหญ่โต

ระบบอันบิดเบี้ยวนี้ถูกตอกย้ำอยู่ทุกวันจนกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาของชีวิต

การที่ระบบเหล่านี้ดำรงอยู่ไม่ได้เป็นเพราะมีคนชั่วร้ายอย่างนายทุนหน้าเลือด หรือนายกฯ หรือสส. ที่ไหน ระบบนี้ดำรงอยู่ได้ไม่ใช่เพราะมันเป็นระบบที่ดีโดยตัวของมันเอง แต่มันอยู่ได้เพราะวันนี้เราสร้างมันขึ้นมาเอง เราใช้ชีวิตอย่างที่ระบบออกแบบมา เราไม่รู้จักระบบอื่นๆ ทั้งออกจากจะหวาดกลัวหากต้องพรากจากมันไป เราเรียนในสิ่งที่ระบบควบคุมให้เป็น เรากินสิ่งที่ระบบจัดหา เราทำงาน คิด และทำอย่างที่ระบบต้องการ

วันนี้เราเป็นผลผลิตหนึ่งของระบบนี้ และเราก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ระบบดำรงอยู่

ถ้าวันนี้เราไม่สร้างระบบ เราก็จะไม่มีระบบนี้อีกต่อไป เราอาจถูกสร้างมาจากระบบ แต่เราเลือกที่จะไม่สร้างมันต่อไปได้ เราสามารถหยุดมันได้ ปฏิเสธมันได้ เราหยุดความต่อเนื่องของมันได้

ระบบอันใหญ่โตนี้มีอยู่เพราะเราสร้างมันขึ้นมาเอง

และเราหยุดมันได้ที่ตัวเราเอง

เมื่อเราปฏิเสธที่จะผลิตซ้ำระบบ เราอาจต้องเผชิญกับความเปล่าเปลี่ยวจากอิสรภาพ เราอาจไม่รู้ว่าเราจะต้องทำอะไร อย่างไร ที่ไหน เราอาจต้องเผชิญกับความเหงาที่ถาโถมเข้ามาจากการเป็นคนนอก เผชิญกับคนรอบข้างที่ทำตนเสมือนผู้ควบคุมระบบที่รายล้อมอยู่รอบตัวเราและพร้อมที่จะแก้ไขความผิดปกติจากระบบของตัวเรา

สู่การประกาศอิสรภาพ

ระบบอันแสนซับซ้อนใหญ่โต ใครเล่าจะแก้ไข?

เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญ

เราต้องรวมพลังกันมากๆ จัดตั้งอย่างเข้มแข็ง เข้าไปยึดอำนาจ ตอนนี้ต้องรอก่อน

เราเป็นเพียงคนธรรมดา รอคนดีมีความสามารถมาแก้ไขดีกว่า คนเก่งคนดีคนมีบารมีมีอยู่มากในเมืองไทย

ทำตัวเองให้ดีก่อน

เราต้องสนับสนุนคนดีมาปกครองบ้านเมือง

.....

ถ้อยคำที่ไม่นำไปสู่การปฏิบัติเหล่านี้ เราอาจคิดขึ้นมาเองหรืออาจเป็นเพียงสิ่งที่ระบบพยายามยัดเยียดให้เราคิด จนกระทั่งเราเชื่อว่ามันจริง เราเชื่อกระทั่งว่าเราเป็นผู้คิดมันขึ้นมาเอง

หลายคนอาจบอกว่าเราทำอยู่แล้ว ทำอยู่ทุกวัน

การที่แต่ละคนต่างทำไปเพื่อขัดขืนต่อระบบโดยไม่มีใครสั่งเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม แต่มันจะเพิ่มพลังขึ้นมากเพียงไร หากเราประกาศสิ่งที่เราทำให้คนอื่นรู้

หลายคนอาจจะเอือมระอากับการชุมนุม เอือมระอากับการจัดองค์กรเป็นรูปแบบขึงขัง

การรณรงค์ปิดทีวีเป็นการทดลองรูปแบบการสร้างความสัมพันธ์เพื่อใช้อำนาจของแต่ละคนในการต่อสู้ทางวิถีชีวิต ไม่ใช่การจัดตั้ง/จัดองค์กรแบบเดิม

เราไม่จำเป็นต้องรอองค์กรจัดตั้ง ไม่จำเป็นต้องรอให้การเปลี่ยนแปลงมาถึง เราสร้างการเปลี่ยนแปลงมันได้ที่นี่เดี๋ยวนี้เลย

เรามีชีวิตที่ดีขึ้นได้ที่นี่และเดี๋ยวนี้

เริ่มต้นด้วยการปิดทีวีแล้วมีชีวิตที่ดี ใช้เวลาที่เคยใช้ไปในการดูรายการทีวีมาสร้างโลกใหม่ที่ดีงามด้วยกัน

สร้างพลังของการขัดขืนขึ้นมาในตัวเรา ประกาศตนเพื่อเชื่อมโยงกับคนอื่นๆ แล้วแผ่ขยายไปสู่การขัดขืนในมิติต่างๆ สร้างพลังของการสร้างสรรค์ใหม่ สร้างคุณค่าของเราเอง แล้วเชื่อมโยงสัมพันธ์กับคนอื่นๆ อีกมากมายที่ปรารถนาจะสร้างสังคมใหม่ที่เกื้อกูลและเป็นธรรม

แหล่งข้อมูลที่ใช้ในการเขียนบทความนี้

สิริพร สมบูรณ์บูรณะ, บก. 2536. วารสารร่มพฤกษ์ ปีที่ 12 เล่ม 1

จอนห์น ฮอลโลเวย์. พัชณีย์ คำหนัก แปล. “อำนาจและรัฐ” ใน วารสารฟ้าเดียวกัน ปีที่ 3 ฉบับที่ 3, 2548

http://th.wikipedia.org/

เอกสารหมายเลข 119 เรื่อง "วัฒนธรรมในยุคอุตสาหกรรม" เขียนโดย เธียวดอร์ อะดอร์โน, http://www.midnightuniv.org/fineartcmu2001/newpage20.html

ไม่มีความคิดเห็น: